วช. - ศอ.บต. ส่งมอบแม่พันธ์ุแพะ ให้เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมผลักดันเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.ธานินทร์ ผะเอม ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัย “การส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมืองเพื่อยกระดับรายได้ ของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยะโก๊ะ ขาเร็มดาเบะแห่ง มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช. ภายใต้โครงการ ”การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดจังหวัดชายแดนใต้”
โดยมี รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ในฐานะหัวหน้าโครงการบริการโครงการชายแดนภาคใต้สู่ความสำเร็จ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย นางสาวนวรัตน์ เพ็ชรเรือนทอง ปลัดเทศบาลตำบลยุโป รองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทพ รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองประสานพระราชดำริ และกิจการพิเศษ ศอ.บต. นายดอรอฮะ ลาเต๊ะ สมาชิกเทศบาลตำบลยุโป และเยาวชนในโครงการฯ ร่วมให้การต้อนรับ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้การเกษตร ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ดร.ธานินทร์ ผะเอม ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า จากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งผลให้ในหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในสภาพที่ไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะขาดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถรองรับแรงงานที่อพยพคืนถิ่น และตอบโจทย์ในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนอย่างครบวงจร
วช. ภายใต้ อว. เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในระยะยาว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ“การส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมืองเพื่อยกระดับรายได้ ของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรมสมัยใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยะโก๊ะ ขาเร็มดาเบะ กล่าวว่า การส่งเสริมและการบริหารจัดการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรของเยาวชน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษารูปแบบการส่งเสริมและการบริหารจัดการเลี้ยงแพะครบวงจรด้วยนวัตกรรมอาหาร Smat Farm และการจัดการสุขภาพ ตลอดจนหนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรและเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่เลี้ยงแพะให้เป็นผู้ประกอบการ Smart Farmer
โดยเน้นไปที่ผลผลิตที่จะต้องคำนึงถึงระบบของการเลี้ยงแพะพื้นเมืองรวมถึงนวัตกรรมอาหารจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อก่อให้เกิดการลดรายจ่ายด้านอาหารสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และเกิดการจ้างงานเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่สามารถเป็นอาชีพหลักให้กับกลุ่มเยาวชนที่ไม่มีงานทำตลอดจนเป็นพื้นที่ต้นแบบต่อไป
นายฮาฟีซ อาบู ประธานชมรมเยาวชนบ้านบือราแง กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ วช. และ ศอ.บต. นำโครงการดี ๆ มาช่วยเยาวชนในพื้นที่ให้มีรายได้ที่ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปไหน
ทั้งนี้ สามารถติดตามการทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านบือราแง ได้ที่แฟนเพจเฟสบุ๊ค : Ikatan Pemuda Pemudi kampung berangae ชมรมเยาวชนบ้านบือราแง
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมต้นแบบการเลี้ยงแพะแบบประณีต ที่บ้านทุ่งเหรียง ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และเยี่ยมชมการเลี้ยงแพะที่บ้านวังกว้าง ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี โดยมี นายรอมือหลี อาแว หัวหน้ากลุ่มต้นแบบการเลี้ยงแพะแบบประณีต เยาวชนในพื้นที่เล่าถึงประสบการณ์การเลี้ยงแพะที่ได้รับความรู้จากนักวิจัย
อนึ่ง คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ส่งมอบแม่พันธุ์แพะให้กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา และ จังหวัดปัตตานี และยังได้ไปชมแปลงหญ้า ที่เยาวชนร่วมกันปลูกเพื่อรองรับสำหรับอาหารแพะ ที่บ้านวังกว้าง ตำป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี