วช.จัดประชุม รับฟัง “การพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์”ยกระดับ LIME
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญประการคือการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โดย วช. ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและมีรายได้ที่สูงขึ้น
โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเด็นความต้องการพัฒนาจังหวัดตามนโยบายของรัฐ เพื่อการขยายผลการนำองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษา “การพัฒนาแผนที่นำทางการพัฒนาระบบขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์” ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในประเด็นแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งที่สอดคล้องเหมาะสมกับจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ บนฐานความคิดของการพัฒนาระบบขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพื้นที่ในมิติต่าง ๆ
โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน จนสำเร็จลุล่วง กลายเป็นแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างแท้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะถูกนำส่งไปยังหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ยกระดับไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศต่อไป
ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ประธานเครือข่ายวิชาการโลจิสติกส์อาเซียน ASEAN Logistics Academic Network (ALA) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ได้รับการอนุมัติทุน จาก วช. เพื่อดำเนินการโครงการวิจัย “การพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์”
เพื่อจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน กำหนดทิศทาง และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการเชื่อมโยงการเดินทางของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพสูงและมีความสำคัญในระดับภูมิภาคต่อไปนั้น
การวิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนหลักตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วย 1) การศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ 2) การศึกษารูปแบบการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 3) การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ การดำเนินงานที่ผ่านมาคณะผู้วิจัยได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการพัฒนาของพื้นที่ที่จะนำไปสู่การขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่มาของการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการซึ่งเป็นกิจกรรมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมประกอบด้วยการนำเสนอภาพรวมของโครงการวิจัย ผลการศึกษาความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเสนอแนะเชิงนโยบายมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ ในการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน กำหนดทิศทาง และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่ง สู่การพัฒนาการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับสู่การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ได้อย่างยั่งยืน
(วันที่ 21 เมษายน 2566) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ครั้งที่ 1 (ความต้องการพัฒนาการขนส่งฯ) ภายใต้โครงการการพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับการขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ประธานเครือข่ายวิชาการโลจิสติกส์อาเซียน ASEAN Logistics Academic Network (ALA) กล่าวรายงานการประชุม ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร