เมื่อ : 26 เม.ย. 2566


25 มีนาคม 2566 ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ (Seapine Recreation Centre) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษารุ่นที่ 2 โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ  

 

โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 123 คน จากสถานศึกษา 10 แห่ง จาก 7 จังหวัด ได้แก่ 

1)วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม  สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สาขาไฟฟ้ากำลัง 
2) วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพมหานคร สาขางานการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
3) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี  สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
4) วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่   สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
5) วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ จ.สุรินทร์  สาขาช่างเทคนิคการผลิต สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลสาขาอาหารและโภชนาการ
6) วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี  สาขาการจัดการสำนักงาน
7) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย จ.หนองคาย  สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
8) วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร  สาขาธุรกิจค้าปลีก  สาขาวิจิตรศิลป์
9) วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี จ.อุดรธานี  สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล  สาขาดิจิทัลกราฟิก
10) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สาขาดิจิทัลกราฟิก  สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล  
 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยเชิงระบบด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพทั้งหมด 11 แห่งมาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษา 4 รุ่น รวม 439 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 185 คน
 

ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนพิการจำนวน 2180178 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 63.87 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา เท่านั้น 

 

 

 

โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ จึงมุ่งพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความบกพร่องทางด้านร่างกาย ความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความบกพร่องทางการเรียนรู้และมีภาวะออทิซึม ความบกพร่องทางการมองเห็น ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความบกพร่องทางพฤติกรรม 

 

ด้วยแนวคิดและเป้าหมาย เปลี่ยนความพิเศษ เป็น พลัง สามารถจบการศึกษา พึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอย่างอิสระ เป็นสมาชิกของสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการพัฒนาตัวแบบระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ 

 

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า กสศ. ก่อตั้งมาด้วยภารกิจ 2 เรื่อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปการศึกษา โดยเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน จึงเป็นตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในระบบการศึกษา ด้วยการเปล่งเสียง เปล่งแสง เปล่งโอกาส สร้างระบบหลักสูตรการเรียนรู้ ระบบเครือข่าย เพื่อให้การศึกษาได้ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มองว่าครอบครัวต้องมีชุดความคิดเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนก้าวผ่านความกลัวด้วยความมั่นใจว่าปัจจุบันนี้ มีลู่ทางการศึกษามากมายที่ตอบโจทย์ของแต่ละคน
 

“กสศ. และ สอศ. จะร่วมทำงานเพื่อให้เกิดเส้นทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกหลากหลาย และทำงานร่วมกับภาคเอกชน สถานประกอบการ เพื่อเปิดประตูรับเยาวชนกลุ่มนี้เข้าทำงานอย่างสมศักดิ์ศรี
“รัฐบาลมีนโยบายสารพัดเรื่อง แต่ไม่มีพรรคไหนที่พูดเรื่องผู้มีความต้องการพิเศษ  ซึ่งแปลกมาก เรากำลังถูกรัฐมองข้ามความสำคัญรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า วันนี้ต้องประสานเสียง ประสานใจ ส่งเสียงดัง ๆ เพราะผู้มีความต้องการพิเศษเหล่านี้มีตัวตน เป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพของประเทศได้”  ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว 

 

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะวิจัยโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สําหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานวิจัยเชิงระบบเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ  5 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีความแตกต่างกัน 2.ระบบการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา 3.ระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุกมิติ 4.ระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษา 5.บทบาทและการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ 
 

“ปัจจัยสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คือ Transition to work  หรือกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การมีงานทำ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมสนับสนุนในลักษณะของเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ครอบครัว สถานศึกษา สถานประกอบการ ชุมชน เพื่อให้ได้งานตรงตามสาขาที่เรียน ได้ใช้ศักยภาพที่แท้จริงทำงานและสามารถยืนหยัดพึ่งพาตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรี และภาคภูมิใจ”  ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ