เมื่อ : 03 พ.ค. 2566


เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  จัดเสวนาออนไลน์ แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ EP.1: “ChatGPT AI Chatbot” เพื่อแนะนำองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ 

 

โดยเฉพาะในประเด็น ChatGPT เพื่อหารือโจทย์การวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อนาคต และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI (เช่น ChatGPT) กับการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมบรรยายพิเศษ “OpenThaiGPT: ChatGPT Opensource ภาษาไทย โดยคนไทย” 

 

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS ร่วมบรรยายพิเศษ “What we should know about Generative AI in 2023 : สิ่งที่เราน่าจะรู้ เกี่ยวกับ Generative AI ในปี 2566”  และ ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการบริษัท กสิกร แล็บส์ จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ “Generative AI : Challenges and Opportunities in Business

 

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.ได้จัดทำแผนด้าน ววน. 2566-2570 เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา 

 

“พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566-70 หรือแผนระยะ 5 ปี ใน 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม
.
 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ ก้าวหน้าล้ำยุค 

 

เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม

 

ในส่วนนี้ขอกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มุ่งเน้นการดำเนินงาน 8 เรื่อง และ หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ด้วยตระหนักว่า เทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการนำมาประยุกต์ใช้อย่างเร่งด่วนในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลได้  
.
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร บรรยายว่า OpenThaiGPT จะเป็น AI Chatbot ภาษาไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี AI โดยช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้คนไทย และประเทศไทยมีเทคโนโลยี AI ของตัวเอง โดยปัจจุบันหลายองค์กรสามารถเข้าไปใช้บริการ ChatGPT เพื่อเพิ่มช่องทางถามตอบ หรือ แนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจาการเข้าไปใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถต่อยอดแอปพลิเคชัน ที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการ หรือ สตาร์ทอัพ รายใหม่ๆ และบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

 

โดยที่ผ่านมามีการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ยุค  

ยุคแรก คือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) AI ที่มีความถนัดในศาสตร์แขนงใด แขนงหนึ่ง เท่านั้น ยุคที่ 2 Artificial General Intelligence (AGI) AI ที่มีความสามารถเรียนรู้ การใช้เหตุผล แก้ไขปัญหา สร้างกลยุทธ์และตัดสินใจได้ในสภาวะที่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ โดยขณะนี้เราอยู่ช่วงยุคที่ 2 ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ChatGPT ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ สามารถสอบแพทย์ กฎหมายผ่าน และ ยุคที่ 3 Artificial Super Intelligence (ASI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง มีความฉลาดเหนือมนุษย์
.
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม บรรยายว่า Generative AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงชุดข้อมูลที่มีอยู่ และ การนำข้อมูลมาสร้างใหม่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model ที่สามารถนำมาใช้งานหลากหลาย เช่น การสร้างภาพ การประมวลผล การสร้างเสียงดนตรี ที่เราต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ จุดอ่อน จุดแข็งและการใช้จากเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม นอกจากการวิจัยพัฒนา ต่อยอดทางเทคโนโลยีแล้ว การพัฒนาคนให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญเช่นกัน เพราะอย่างไรมนุษย์จำเป็นต้องทำงานร่วมกับ AI 
.
ทั้งนี้ในบริบทของการร่วมพัฒนา AI ของไทย ยังมีโจทย์ที่ท้าทายในการผสมผสานระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี และ ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อให้ AI สามารถเข้าใจเหตุและผล (Explainable AI) และประเด็นทางด้านการดูแล และกำหนดการใช้งานให้กับ AI ทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยเฉพาะในบริบทของคนไทย  ท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีจะมาช่วยสร้างประโยชน์ ให้คนไทย ในหลากหลายมิติได้อย่างเหมาะสม
.
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล บรรยายว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างผลลัพธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ โค้ดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ จากชุดข้อมูล ชุดคำสั่ง หรือคำอธิบายที่มนุษย์ป้อนเข้าไป (Input Prompts) โดยการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือ และการพัฒนาขีดความสามารถ ในปัจจุบันสอดคล้องกับเทรนด์ AI และ ความท้าทายในปัจจุบัน เช่น การสร้างภาพเสมือนจริงของบุคคล เพื่อทำให้เราเห็นภาพในอนาคต ว่า ร่างกาย หรือ รูปร่างของเรานั้นจะเป็นอย่างไร และจะต้องเตรียมวางแผนการดูแลตนเอง การใช้ชีวิต่อไป เช่นเดียวกับการใช้ AI มาช่วยให้เราได้รู้เท่าทัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มีการปลอมเป็นตัวบุคคล เพื่อสื่อสารข่าวปลอม การตรวจสอบสิทธิความเป็นเจ้าของในตัวของภาพถ่าย กราฟฟิกต่างๆ และ เรื่อง Interpretability and Correctness หรือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ที่ทุกธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ 
.
การจัดงานในครั้งนี้ สกสว.ได้ข้อมูลสำคัญ ที่จะนำไปสู่การกำหนดโจทย์การพัฒนาสำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนงาน การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การบริการและพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ