สกสว. หารือร่วมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
สกสว. ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานด้าน ววน. ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยตอบเป้าประเทศ สร้างผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณด้าน ววน. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินการด้าน ววน. ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ซึ่งได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) ที่มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และสามารถตอบสนองแนวนโยบายของชาติ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีธรรมาภิบาล โดยมี
.
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัย และนำเสนอความคืบหน้างานวิจัย ที่ได้รับงานประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน.ที่ผ่านมา
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กล่าวถึงภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่ามีหน้าที่ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความสมานฉันท์ ได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพในระดับสากล ช่วยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง โดยการขับเคลื่อนแผนและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการบังคับใช้ พ.ร.บ. การผลักดันร่างกฎหมาย และปฎิบัติตามหลักองค์การสหประชาชาติ (UN)
“ทำอย่างไรที่จะสร้างเกราะคุ้มครองและสิทธิเสรีภาพให้กับประชากรทั้ง 77 ล้านคน ซึ่งตรงกับงานวิจัยที่จะร่วมหารือกับ สกสว.ในวันนี้ เพราะงานวิจัยนี้จะช่วยให้ประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศได้รับรู้ รับทราบ และมีพัฒนาการด้านสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งกองทุน ววน.ถือเป็นประโยชน์ต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นอย่างมาก” นายเกิดโชค กล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง กล่าวถึงการทำงานของกองทุน ววน. ว่า มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ 1. การจัดทำแผนด้าน ววน. 2. จัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. 3. ขับเคลื่อนระบบส่งเสริมและกลไกการพัฒนาระบบและบุคลากร ววน. 4. สร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ และ 5. การประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ ได้มีการแนะนำถึงแผนปฏิบัติการ ร่วมนำเสนอโครงการที่สำคัญ หรือโครงการเด่น การนำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการงานวิจัยของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมทั้งนำเสนอและรายงานความคืบหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน. ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ 1. โครงการประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยาน และแนวทางการพัฒนางานคุ้มครองพยานของประเทศไทย 2. โครงการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา เป็นต้น
.
ขณะที่ แผนงานวิจัย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นั้น ประกอบด้วย 1. ด้านการจัดตั้งสถาบันพัฒนาสิทธิมนุษยชน 2. การนำ IT/นวัตกรรม มาใช้ในการส่งเสริมสิทธิฯ 3. ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายตามแผนสิทธิฯ 4. ข้อพิพาท (แพ่ง-อาญา) ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 5. รูปแบบ/แนวทางในการติดตาม ประเมินผล การพัฒนาบุคลากรด้านการไกล่เกลี่ย 6. หน่วยงานในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานไกล่เกลี่ย 7. ผลักดันสร้างกลไกระดับชาติ/นโยบายด้าน สิทธิมนุษยชน 8. การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามพันธกรณีและมาตรฐานสากล 9. พัฒนากฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ 10. ผู้ถูกละเมิดสิทธิ เข้าถึงความช่วยเหลือตามหลักสากล 11. ขยายความร่วมมือช่วยเหลือกับเครือข่าย ในประเทศและต่างประเทศ และ 12. การศึกษาคุณลักษณะที่สำคัญของบุคลากรกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในอนาคต สู่การเป็น Digital DNA ต่อไป
.
สุดท้ายนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ “ชี้การทำงานวิจัยได้สร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทำงาน ที่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเอง และวางตัวเป็นผู้มีบทบาทหลักในการคุ้มครองพยาน เพื่อให้ตรงตามความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มากขึ้น
ทั้งยังสามารถนำงานไปปรับใช้ในหลักสูตรอบรมแนวทางการดูแลพยานในเชิงจิตวิทยาที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักในการจัดอบรม” ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานที่การทำวิจัยได้มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนวิธีคิด และนำไปสู่การปรับรูปแบบการทำงาน ทั้งนี้ หน่วยงานควรมีการสื่อสารผลลัพธ์และผลกระทบจากงานวิจัยให้แก่สาธารณะมากขึ้น