วช. หนุนสามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้งานวิจัย “แปรรูปโคเนื้อวากิว” สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม นายสมบูรณ์ วงศ์กาด ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ วช. และกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เยี่ยมชมความก้าวหน้า
โครงการวิจัย เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปโคเนื้อเพื่อเพิ่มรายได้กลุ่มเกษตรกรต้นแบบชายแดนใต้” ดำเนินการโดย ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข–แก้ว แก้วแดง ระหว่างวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2566 โดยมี รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมา ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. โดย เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ ได้สนับสนุนให้มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ทำการศึกษาวิจัยและทดลองเลี้ยงโควากิว ซึ่งเป็นโคเนื้อระดับพรีเมียมในระบบฟาร์ม ในชื่อ “ยะลาวากิวฟาร์ม” ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชายแดนใต้ในการเลี้ยงโคแบบประณีตและเป็นอาชีพหลัก
โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อขายแดนใต้ เพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงโคเนื้อแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิต จากการเลี้ยงโคแบบปล่อยทุ่ง มาเป็นการเลี้ยงในโรงเรือน มีการทำอาหารหมักที่มีคุณค่าอาหารสูงโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน พัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมเทียม การรักษาและป้องกันโรค การใช้ประโยชน์จากมูลโค
โดยให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความพร้อม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปเนื้อโคตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัวจนสามารถดำเนินงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อต้นแบบของจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ในการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปโคเนื้อตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อโคอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
เพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่อื่น และ วช. พร้อมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โคเนื้อวากิวแปรรูปที่มีคุณภาพ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโคเนื้อแปรรูปได้
ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข–แก้ว แก้วแดง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ได้ทำการวิจัยและทดลองเลี้ยงโควากิว ซึ่งเป็นโคเนื้อระดับพรีเมียมในระบบฟาร์มชื่อ “ยะลาวากิวฟาร์ม” มาตั้งแต่ปี 2556
เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชายแดนภาคใต้ในการเลี้ยงโคแบบประณีตและเป็นอาชีพหลักในอนาคต โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปโคเนื้อเพื่อเพิ่มรายได้กลุ่มเกษตรกรต้นแบบชายแดนใต้” เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความพร้อม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปเนื้อโคตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว จนสามารถดำเนินงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้” เพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงโคเนื้อแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้
ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิตโคเนื้อชายแดนใต้จากการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง มาเป็น “การเลี้ยงแบบยืนโรง” มีระบบการจัดการฟาร์ม การทำอาหารผสมสำเร็จรูป (Total Mixed Ration – TMR) โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน การพัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมเทียม การรักษาและป้องกันโรคในโค การใช้ประโยชน์จากมูลโค และเกษตรกรรู้จักใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้น
ดร.รุ่ง แก้วแดง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปโคเนื้อตามมาตรฐานฮาลาลและการตลาด โดยเน้นการฝึกอบรมวิธีการเชือดโคที่สะอาดและปลอดภัย การตัดแต่งเนื้อวัวอย่างมืออาชีพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหนังวัวยะลาวากิว
โดยการนำไปทำแคบวัวเพื่อเพิ่มมูลค่า ในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยือนและให้คำแนะนำเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรม คณะนักวิจัยพบว่า มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบางแห่งที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีที่ดีกว่าหากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพร้อมจะเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม
การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ คณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ วช. พร้อมด้วยคณะนักวิจัย และสื่อมวลชน ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปโคเนื้อที่ยะลาวากิวฟาร์ม พร้อมรับฟังการบรรยาย เรื่อง การมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้
โดย รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมา ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ การบรรยาย เรื่อง “การแปรรูปเนื้อโคสู่การเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบ้านนิบง” โดย นายอับดุลคอเด เจ๊ะดือราแม ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบ้านนิบง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา การบรรยาย เรื่อง “การแปรรูปเนื้อโควากิวเป็นอาหารพื้นบ้าน” โดย ผอ.ประกายแก้ว ศุภอักษร ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา และ อ.กฤษณพร ตุฉะโส แห่งวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา จังหวัดยะลา การบรรยาย เรื่อง “บทบาทของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ในการส่งเสริมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ นทพ.นราธิวาส” และการจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อ