สกสว.หารือกรมกิจการผู้สูงอายุ รับมือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
สกสว.พร้อมเป็นช่างเชื่อมทำงานแบบจัดกลุ่มเชิงประเด็นร่วมกับหน่วยปฏิบัติการ สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรับมือสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคตให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัยทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งมีโจทย์ใหญ่ทั้งความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และการเข้าถึงเทคโนโลยี
วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมประชุมหารือการดำเนินงานด้านสังคมสูงวัย ณ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อรับฟังสถานการณ์ด้านสังคมสูงวัยของประเทศไทย
รวมถึงร่วมหารือแลกเปลี่ยนการวิจัยด้านการพัฒนาสังคมสูงวัยของกองทุนส่งเสริม ววน.
น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรไทย ซึ่ง พม.ได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย 3 ด้าน ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุ การทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีพลังในชุมชนต่าง ๆ และการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
โดยมีโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ ของรัฐบาล เช่น สวัสดิการถ้วนหน้าของผุ้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในชุมชน จึงอาจจะต้องทำงานวิจัยอย่างเร่งด่วนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาหารเสริม หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ การออกแบบห้องพักที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจิตเวช ภาวะหลงลืมตามวัยหรืออัลไซเมอร์
นอกจากนี้ยังอยากร่วมหารือกับอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากได้รับเสียงสะท้อนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่ยังติดข้อกฎหมายหลายประการ ประเด็นเร่งด่วนมาก คือ การมีกลไกหรือรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุให้มีอายุยืนยาวอยู่ในบ้านได้มากที่สุด เพราะสถานสงเคราะห์มีพื้นที่รองรับจำกัดต้องใช้ระบบรอคิว จึงต้องบูรณาการงานในท้องถิ่นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุแบบจริงจังในลักษณะคลินิกผู้สูงอายุในพื้นที่
บทบาทของกรมกิจการผู้สูงอายุในการรองรับสังคมสูงวัย ปัจจุบันได้ถ่ายโอนสถานสงเคราะห์ให้ท้องถิ่นดูแล ส่วนศูนย์ที่อยู่ในการดูแลของกรมฯ ทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจำเป็นต้องมีนวัตกรรมหรือเป็นที่พึ่งของประชาชนที่อยู่ในบ้าน ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงการขยายศักยภาพของผู้สูงอายุระดับตำบล สร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งอยากให้เชื่อมโยงกับโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยให้เต็มพื้นที่ เน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไข
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการดูแลผู้มีภาวะหลงลืม สมองเสื่อม หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องมีรูปแบบการดูแลอย่างดีที่สุดและใช้นวัตกรรมอย่างมาก ตลอดจนการดูแลสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศ
แผนด้าน ววน. ปี 2566-2570 ผศ. ดร.แพรระบุว่า สกสว.ให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมสูงวัยและบทบาทเป็นช่างเชื่อมที่พร้อมจะทำงานแบบจัดกลุ่มเชิงประเด็นตามแผนด้าน ววน. โดยการทำงานร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงหน่วยปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยโดยเฉพาะด้านสังคมสูงวัยไปต่อยอดใช้ประโยชน์
ขณะที่ผู้แทน วช. กล่าวถึงการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการดูแลคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะทั้งในภาคเมืองและชนบท ที่ต้องการชุดความรู้และวิธีการทำงานเพื่อสนับสนุนภารกิจ มีนวัตกรรมสังคมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลังคม มีต้นแบบหรือกลไกการเรียนรู้และสร้างความพร้อมในการดำเนินงานต่าง ๆ รวมถึงการสร้างโอกาสช่องทางอาชีพ สร้างรายได้ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับคนทุกช่วงวัย และการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีหลักสูตรเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
ด้าน ศ. ดร.ระพีพรรณ คำหอม ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ สกสว. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสังคมสูงวัยว่าจังหวัดหรือตำบลเล็ก ๆ มีแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีโครงสร้างการทดแทนของกลุ่มประชากรอย่างไร การอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัยเพื่อรับมือสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคต ปัญหาที่พบมากคือการจ้างงาน ต้องมีการติดตามผลเพื่อปรับโมเดลและมาตรการช่วยเหลือ และมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายแตกต่างกัน
สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัย จึงต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต โจทย์ใหญ่มีทั้งความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม การเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น การแก้ปัญหาในการดูแลตัวเองโดยที่ยังมีรายได้และดูแลผู้สูงอายุในบ้านด้วย มีระบบสวัสดิการรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน
นอกจากนี้ยังควรมีนโยบายการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งอาจติดข้อกฎหมาย จึงต้องคิดเชิงนวัตกรรมหรือมีหน่วยงานเข้ามาดูแล สำหรับงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์รองรับสังคมสูงวัยได้กำหนดโจทย์วิจัยท้าทายกับภาพอนาคต เช่น โจทย์ระยะยาวเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของคนแต่ละรุ่นที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต การขยายขอบเขตและพื้นที่การศึกษางานวิจัยในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และระดับนานาชาติ เนื่องจากสังคมสูงวัยเป็นปรากฏการณ์ของสังคมโลกร่วมกัน รวมถึงให้ความสำคัญกับโจทย์ใหญ่ท้าทายในประเด็นนโยบายหรือนโยบายสาธารณะ และสนับสนุนงานวิจัยในรูปแบบสหวิทยาการเพื่อตอบโจทย์การรองรับสังคมสูงวัยให้ครอบคลุมในทุกมิติ