เมื่อ : 25 มิ.ย. 2566

 

วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2567 ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ประจำปีงบประมาณ 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม NRCT Open House 2023 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ”

 

เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

 

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
 

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดงานชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่หก จะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างการรับรู้ รวมถึงการแนะนำการเขียนข้อเสนอทางการวิจัยในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน .

 

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพลดลง พลังงาน ขยะมูลฝอย ขยะพลาสติก และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

 

ทำให้ทั่วโลกต่างตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดและให้เกิดประโยชน์มากที่สุดรวมถึงสามารถใช้ได้อย่างทั่วถึงกับประชากรโลกทุกคน จึงมีการเสนอคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ทุกประเทศจะต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 

 

รวมทั้งจากที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ “COP26”ณ เมืองกลาสโกว์สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 2021 ว่า “ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง 

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050” ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับแผนและกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการบูรณาการกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ วช. ตระหนักจึงจัดทำกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 –2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 –2570 ดังนี้ 1. แผนงาน P15 (S2) พัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืน และการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม 2. แผนงานP16 (S2) พัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม
 

 

ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “หมุดหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ในมิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และตามด้วยการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2567” 

 

จากผู้ทรงคุณวุฒิ ของ วช. ประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ศ. ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ รศ. ดร.สุธา ขาวเธียร รศ. ดร.อำนาจ ชิดไธสง 

 

นอกจากนี้ยังมีนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ น.ส.ศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย น.ส.กรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย ศ. ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการ และแนวทางในการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ประกาศรับข้อเสนอในแต่ละปี

 

สำหรับการเปิดรับสมัคร วช. จะเปิดรับตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2566 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น.ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ