เมื่อ : 13 ก.ค. 2566

 

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หารือร่วม สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และบทบาทหน้าที่ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าว 
.
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง บทบาทสำคัญของ สกสว. และแนวทางการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมได้จัดสรรผ่านทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ “Strategic Fund: SF” ให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) และทุนสนับสนุนงานมูลฐาน “Fundamental Fund: FF” ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. 

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน ววน. ของหน่วยรับงบประมาณให้มีความเข้มแข็งในภาพรวมของทั้งประเทศ สนับสนุนให้เกิดการทำงานของหน่วยงานในระบบ ววน. แบบบูรณาการและเป็นเอกภาพ รวมถึงสนับสนุนงานมูลฐาน (FF) ที่ครอบคลุมกิจกรรมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ววน. สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงานและตอบเป้าหมายของประเทศ 
.
 

 

นอกจากนี้ สกสว. ยังมีหน้าที่จัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566 – 2570 มีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และระบบรางของประเทศให้ทันสมัยได้มาตรฐาน แข่งขันได้ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรองรับระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ แผนด้าน ววน. ถือเป็นกลไกสำคัญในการชี้ทิศทางการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ 
.
ขณะที่ ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. เปิดเผยว่า สทร.เป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ 

 

 

 

บทบาทหลัก คือ 1.) จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ 2.) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบราง และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ 3.) วิจัยและพัฒนามาตรฐานระบบราง และระบบการทดสอบด้านระบบราง ดำเนินการทดสอบด้านระบบราง และรับรองมาตรฐาน ประเมินคุณภาพสำหรับใช้ประกอบการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง 

 

4.) ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม การรับ แลกเปลี่ยน ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เป็นศูนย์กลางในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง 5.) พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะด้านระบบราง และ 6.) จัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบราง
.
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ