เมื่อ : 12 ส.ค. 2566

 

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 วันสุดท้ายของมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนา”การขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิจัยโดยใช้กลไกศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ(Hub of Talents)และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge)” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ผู้อำนวยการแผนงานโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ ผู้อำนวยการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์กลางความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ 

 

ณ ห้อง Lotus 1-2 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

 

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวว่า เป็นความพยายามของกองทุนในการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายสาขาการวิจัย และจริง ๆ แล้วความรู้หลากหลายสาขาก็เกิดขึ้นจากนักวิชาการอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่ในแต่ละสถาบัน จึงพยายามหากระบวนการวิธีที่ทำให้มาทำงานร่วมกัน 

 

ในอดีตที่ผ่านมาเคยพยายามทำในเรื่องให้เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ก็ติดอยู่ในเรื่องของสถาบัน การยึดติดหน่วยงาน ด้วยเหตุนี้ในระยะเวลาที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯ ให้ วช. ทำหน้าที่ในการประสานจัดการให้เกิดการสร้างกลุ่ม ให้มีนักวิจัยที่หลากหลายในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องระบบรางก็ต้องมีวิศวกรระบบ มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับวัสดุ ระบบควบคุม 

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้มาทำงานด้วยกันมีความหลากหลาย ขณะเดียวกันให้มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ในระยะเวลาที่หลายเรื่องนั้นต้องมีการรวบรวมความรู้ที่กำหนดกระบวนการให้เกิดการสร้างคนเพิ่มมากขึ้นด้วย การรวมกลุ่มคนให้มีการเรียนรู้แล้วก็ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกัน ให้เก่งมากขึ้น ตัวอย่าง ศูนย์กลางความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค มีการรวบรวมความรู้ ส่งต่อให้หน่วยงานดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใส ตรวจความผิดปกติ การทำงานร่วมมือกันเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ผู้อำนวยการแผนงานโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ 1. เพื่อการพัฒนาระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศและแอพพลิเคชันเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย 2. เพื่อดำเนินการทบทวนและถอดบทเรียนการบริหารจัดการหมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด 3. คู่มือวิเคราะห์เชิงนโยบาย และแผนในการจัดการปัญหาหมอกควัน ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด 

 

เริ่มเน้นการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ปัญหา PM 2.5 เป็น Area Base มีสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นปัญหาระดับโลก เป็นปัญหาของทุกๆคนทุกๆที่ ดังนั้นจึงต้องมีความร่วมมือกันทุกๆฝ่าย สร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยที่ไม่ต้องทำการวิจัยใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี สรุปเป็นองค์ความรู้ 3 E การศึกษาให้ความรู้ (Education) ในทุกระดับ ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา(Engineering) และ สร้างเครือข่ายแผนปฏิบัติการ(Enforcement) มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง

 

ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ ผู้อำนวยการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญระบบราง มจพ. กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ(Hub of Talents) ระบบราง มีการมองถึงในระดับอาเซียนและเอเชีย ที่มีปัญหาคล้ายกัน เป็นระบบรางในพื้นที่เขตร้อนชื้น 

 

การรวมกลุ่มในเรื่องระบบราง มีหลายหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วอาจจะไม่ต้องการเข้าร่วม ศูนย์พร้อมสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเพื่อให้เกิดพลังในความร่วมมือ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
 

 

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์กลางความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์กลางความรู้(Hub of Knowledge) พร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์และต่อยอด พยายามเชื่อมโยงตั้งแต่ข้อมูลของต่างประเทศลงมาถึงการใช้ประโยชน์ในชุมชน เราเคยทำ open data จนทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การตรวจสอบงบประมาณเสาไฟฟ้ากินรี