สวทช. - แจ็กซา ส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ ให้หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา 22 แห่ง พร้อมปลูกทั่วไทย สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์
(15 สิงหาคม 2566) เวทีกลาง อาคาร 9-11 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช.ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) โดยมีนายทาเคฮิโระ นากามูระ ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยใช้เมล็ดที่ผ่านการท่องอวกาศนาน 7 เดือน ให้แก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐรวม 22 แห่งทั่วประเทศนำไปปลูก เพื่อต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการศึกษาเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์อวกาศที่ปลูกด้วยเมล็ดจากอวกาศกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับ JAXA และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันดำเนินการโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
“ในวันนี้ สวทช. ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รับ ‘ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ’ นำไปปลูกเปรียบเทียบกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและติดตามการเจริญเติบโตของเมล็ดราชพฤกษ์อวกาศ
สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศ สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือก ‘เมล็ดราชพฤกษ์’ เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีความหมายต่อคนไทย ในฐานะ ‘ดอกไม้ประจำชาติ’ อีกทั้งดอกราชพฤกษ์ยังมีสีเหลืองงดงาม เป็นสีประจำคณะวิทยาศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย
ทาง สวทช. ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 360 เมล็ด ให้แก่ JAXA เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกับเมล็ดพันธุ์พืชจากอีก 11 ประเทศ ก่อนส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยเมล็ดราชพฤกษ์ของไทยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนจะส่งกลับถึงพื้นโลกในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
อย่างไรก็ตามหวังว่าการส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศให้แก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนไทยได้เรียนรู้และใกล้ชิดเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น”
สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศ มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 แห่ง
ซึ่งในครั้งนี้ได้ส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์รอบสุดท้ายจำนวน 22 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หน่วยงานภาคประชาชน ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ริมฝั่งสาย (วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสบสาย)
โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา มหาวิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ด้าน ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือการเพาะกล้าราชพฤกษ์อวกาศและการศึกษาวิจัยว่า ได้ให้การดูแลราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ในพื้นที่ศาลายา สำหรับดำเนินโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต้นราชพฤกษ์อวกาศที่แจกจ่ายไปยังหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะสามารถเจริญเติบโตอย่างงดงามต่อไป เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของประเทศไทยและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ
สามารถติดตามรายละเอียดโครงการราชพฤกษ์อวกาศได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education