บพท.สานพลังเครือข่ายราชภัฏปั้น 4000 นวัตกรรมพร้อมใช้ ตั้งเป้าสร้างนวัตกรชุมชน35000คนภายในเวลา 4 ปีนับจากนี้
8 กันยายน 2566
บพท.ผนึกเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ถ่ายทอดองค์ความรู้ใช้ “App Tech Rajabhat” เครื่องมือรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ที่จะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ เล็งเพิ่มรายชื่อ-ข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ให้ได้อย่างน้อย 4000 นวัตกรรมในปี 2570 หนุนเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างนวัตกรชุมชนให้ครบ 3.5 หมื่นคนหรือตำบลละ 5 คน หวังเป็นกลไกสำคัญพัฒนาพื้นที่-ชุมชนทั่วประเทศ
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยแนวทางการพัฒนานวัตกรรมพร้อมใช้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการและเสวนาภาคีเครือข่ายราชภัฏ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกันจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา
โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมีเครือข่ายทั่วประเทศรวม 38 แห่ง มีบุคลากรทางวิชาการกว่า 1 หมื่นคน โดยมีภารกิจในปัจจุบันมุ่งเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ และการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้การบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต้นแบบที่ ชื่อว่า App Tech Rajabhat
ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 24 แห่งทั่วประเทศ มีการนำเข้าข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วกว่า 500 นวัตกรรม
“แอพพลิเคชั่น App Tech Rajabhat จะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้การทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น คล่องตัวมากขึ้น โดยรวบรวมเอาฐานข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ของเครือข่ายราชภัฏไว้ด้วยกัน เพื่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดขยายผล และนำไปประยุกต์ใช้พื้นที่ต่างๆ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายในเครือข่ายราชภัฏแล้ว ยังสามารถสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันในการจัดการพัฒนาท้องถิ่นข้ามหน่วยงาน จังหวัด ภูมิภาค ได้อีกด้วย”
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หน้าที่ของ บพท.อย่างหนึ่งคือทำให้งานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมซึ่งมีการพัฒนาในพื้นที่ และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับการขยายผลให้เป็นประโยชน์และช่วยให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นคานงัดและจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงในการพัฒนาประเทศที่มีความยั่งยืน
ในขั้นต่อไปเมื่อมีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้เอาไว้ในฐานข้อมูลกลาง ที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้ค้นหาข้อมูลได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยใหม่ทุกครั้ง แต่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลย นอกจากนั้นก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่เจอปัญหาจากการทำงานสามารถที่สะท้อนปัญหามายังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้เลย ฝ่ายสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ก็จะเข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ในลักษณะการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ หรือในบางครั้งอาจเป็นการให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน (seed money) การพัฒนาชุมชนก็จะรวดเร็วขึ้นสามารถขยายผลไปได้มากขึ้น
“ระบบฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และช่วยลดความซ้ำซ้อนการสนับสนุนทุนวิจัยได้ อย่างไรก็ตามความยั่งยืนของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการสนับสนุนทุนวิจัย ในลักษณะ Research Utilization เพื่อให้เกิดการใช้ระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat มาขยายผลและยกระดับผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรชุมชนทั่วประเทศ
ซึ่ง สกสว.มีกลไกกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) พร้อมให้การสนับสนุนการนำผลวิจัยไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว และทาง บพท. ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องและเป็นฐานข้อมูลสำหรับนวัตกรรมพร้อมใช้ที่จะช่วยสร้างนวัตกรชุมชนให้เพิ่มขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้มองว่าการขยายผลฐานข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้จะสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากลักษณะของฐานข้อมูลเป็น Open data โดยปัจจุบันในระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat มีนวัตกรรมพร้อมใช้อยู่แล้วประมาณ 500 นวัตกรรม และจะเพิ่มจำนวนเป็น 3200 นวัตกรรมภายในปี 2568 และคาดว่าจะมีครบอย่างน้อย 4000 นวัตกรรมภายในปี 2570 ส่วนเป้าหมายในการเพิ่มนวัตกรชุมชนที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศตั้งเป้าว่าในปี 2570 จะมี 35000 คน หรือเฉลี่ยแล้วจะมีนวัตกรชุมชนอยู่ในชุมชนไม่น้อยกว่าตำบลละ 5 คน
ในระยะต่อไป เมื่อมีความพร้อมของระบบข้อมูล ชุดความรู้ บพท.มีแผนที่จะทำงานขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม เช่น สสส. พอช. เป็นต้น ในการตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยจับคู่ให้ระบบไปเจอกับผู้ใช้ในระดับภูมิภาคอย่างน้อย 4 ภูมิภาค โดยมี App Tech เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนการทำงานของนวัตกรชุมชน ที่มีความพร้อมในการรับปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หนุนเสริมให้เกิด Quick Win ในการพัฒนาพื้นที่
“ความคาดหวังคืออยากให้แกนนำชุมชน แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองด้วยตัวเองแล้วเกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรชาวบ้าน โดยมีโค้ชคือมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิศวกรสังคมเป็นกลไกในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่ มีศูนย์การเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ คาดหวังว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนาได้ทั่วประเทศก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง”
ระบบ “App Tech Rajabhat” มี 4 ฟีเจอร์หลัก ประกอบด้วย 1) นวัตกรรมพร้อมใช้ เป็น เพื่อให้ทางชุมชนได้เข้ามาพิจารณาเลือกนวัตกรรมที่ตนเองสนใจและตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยชุมชนสามารถกดปุ่มแชทสื่อสารกับทางเจ้าของนวัตกรรมโดยตรงได้ทันที
2) โจทย์ปัญหา เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้สำหรับชุมชน/ท้องถิ่น สามารถนำเสนอประเด็นโจทย์ปัญหาหรือระบุนวัตกรรมที่กำลังมองหา โดยมีนักวิจัยพัฒนาจากฝั่งของมหาวิทยาลัย เป็นผู้เข้าไปค้นหาประเด็นโจทย์ปัญหาที่นวัตกรรมพร้อมใช้ของตนเองสามารถจัดการได้ เพื่อนำผลงานขยายสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
3) ช่องทางพูดคุย เป็นกลไกสำหรับจัดการการพูดคุย โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีผู้ได้รับมอบหมายคอย ควบคุมดูแล การสื่อสารระหว่างเจ้าของนวัตกรรมและชุมชนให้เป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบของการนำผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์
4) รายงานระบบสารสนเทศ เป็นการสรุปข้อมูลแบบ Executive ในมุมมองต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ครบถ้วน สะดวกและรวดเร็ว แบ่งเป็น 1) ระบบสารสนเทศสำหรับคนทั่วไป จะแสดงข้อมูลจำนวน/รายละเอียดทั่วไปของนวัตกรรมพร้อมใช้ และโจทย์ปัญหา จำแนกบนแผนที่แยกตามรายจังหวัด 2) ระบบสารสนเทศสำหรับสถาบัน เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นพิเศษของ App Tech Rajabhat ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนสู่การตัดสินใจของผู้บริหารระดับนโยบาย โดยจะแสดงข้อมูลเชิงลึกถึงระดับตำบล สามารถใช้วิเคราะห์การกระจายตัวของงบประมาณในพื้นที่ตลอดจนนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งโจทย์ ที่จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาโครงการและการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป