เมื่อ : 11 ก.ย. 2566


กรุงเทพฯ 11 กันยนายน 2566 – กองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยผลการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพเขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และแผนการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 8 เขตประกอบการฯ นำร่อง ใน 5 จังหวัด 

 

ภายใต้กรอบการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ในเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน มีจุดเด่นในเขตประกอบการไทยซัมมิท เขตประกอบการแอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ เขตประกอบการซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว ในเขตประกอบการเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง และเขตประกอบการ ทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมุ่งเดินหน้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

 

นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ในการศึกษา “โครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน)” 

 

ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนา จำนวน 8 เขตประกอบการ ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย 
(1) เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง 
(2) เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (เครือซีเมนต์ไทย) ระยอง จังหวัดระยอง 
(3) เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
(4) เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
(5) เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซัมมิท จังหวัดสมุทรปราการ 
(6) เขตประกอบการอุตสาหกรรม แอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ 
(7) เขตประกอบการอุตสาหกรรมซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา 
(8) เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี 
 

 

 

โดยการศึกษาในครั้งนี้ ได้จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สำหรับการสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ยืนยันแนวเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามที่ได้รับการประกาศ 

 

จัดเก็บข้อมูลตำแหน่งโรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำโปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลโรงงานของกรมฯ รวมไปถึงการจัดทำการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรมและแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561–2580)

 

นายวีรพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า ผลการศึกษาเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามแนวคิด เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Bio-Circular-Green Economy) พบว่า 
• ประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) จังหวัดระยอง พระนครศรีอยุธยา มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว น้ำมันปาล์ม และผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล 

 

โดยพบมากในเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมอาหารเครื่องปรุงและประกอบอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมพลาสติก หรือเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือการผลิตเอทานอล ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ 3 – 8 ปี

 

ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในเขตประกอบการอย่างคุ้มค่า ลดการผลิตของเสีย โดยในเขตประกอบการไทยซัมมิท เป็นกลุ่มที่มีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องจักรการเกษตร 

 

สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ได้ เช่น การเปลี่ยนเครือข่ายการกระจายสินค้าและซ่อมบำรุง เป็นศูนย์รวมการผลิตซ้ำและการรีไซเคิล เขตประกอบการแอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ เป็นกลุ่มผลิตเหล็กขั้นกลาง สามารถใช้เศษเหล็กที่หมุนเวียนในประเทศหรือนำเข้ามาผ่านกระบวนการหลอมและนำมารีดเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป 

 

เขตประกอบการซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ โรงงานที่ใช้วัตถุเหล็ก เพื่อให้สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ได้ และเขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายโรงงาน โดยในเขตประกอบการมีโรงงานประเภท 105 และ 106 เพื่อจัดการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย หลอมทำเม็ดพลาสติก นำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

ประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เขตประกอบการเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง พัฒนาในรูปแบบ Smart Industrial ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน 

 

เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น IOT หุ่นยนต์อัฉจริยะ (AI Machine) ระบบอัตโนมัติในการตรวจคุณภาพน้ำทิ้ง เป็นต้น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับความสามารถการแข่งขันนำมาวิเคราะห์เพื่อหาทางปรับปรุง/ลดการใช้พลังงานหรือเพิ่มผลผลิตโดยใช้พลังงานเท่าเดิม 

 

ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ด้วยวิธีการประเมินหรือแอปพลิเคชันช่วยวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

ในขณะที่เขตประกอบการ ทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี แม้ว่าจะอยู่ระหว่างรอการพัฒนา แต่ด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้พัฒนาคาดการณ์ไว้ สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวได้ เช่น โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ 

 

ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพชุมชน ไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อันเป็นกำลังหลักสำคัญของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายรากฐานวิถีชีวิตของชุมชน นายวีรพงษ์ กล่าวสรุป 
 

สอบถามรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.diw.go.th หรือโทร. 02-202-4000