เมื่อ : 25 ก.ย. 2566

 

“หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก” หรือ  “ Deep Science and Technology Accelerators” ของ  “ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ”  หรือ บพข.  ขันอาสาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่โลกต้องการ หรือ เทรนด์ของโลก เข้ากับความเชี่ยวชาญที่แต่ละมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยมีอยู่ผ่านการบ่มเพาะจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น หรือบริการ และ เข้าสู่กระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด 

 

จนสามารถส่งผลงานออกสู่ตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน  

 

รศ.ดร.ธงชัย  สุวรรณสิชณน์   ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการลงนามข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน เพื่อ ลดการทำงานที่ทับซ้อน  ซึ่งจะมีการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการ  แหล่งฝึกอบรมบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ   

 

3 ปีที่ผ่านมา บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่ม Deep Science and Tech Accelerator Platform ร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัย และ 1 หน่วยงานวิจัย  ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

 

เกิดเป็น 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเชิงลึก  หรือ 11 Accelerator Platforms ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้ 
 

 

 

จากเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ประมาณ  190 ล้านบาท ใน 3 ปี ผลงานที่เกิดขึ้น สามารถสร้างเทคโนโลยีเชิงลึก ทั้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทางการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีอาหารมูลค่าสูง และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที (IoT) ขั้นสูง  

 

ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ มีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ อีกทั้งยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีเชิงลึกจาก 11 Accelerator Platforms จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
 

ล่าสุด บพข. ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ(Memorandum of Intent: MOI) ร่วมกับ 11 Accelerator Platforms เพื่อต่อยอดความร่วมมือและนำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ