เมื่อ : 20 ต.ค. 2566

 

เป็นที่ทราบกันดีปีนี้เป็นปีที่มีปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวนไป 3-5 ปี โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ถึงปี 2571 ประเทศไทยซึ่งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องพบเจอกับความแห้งแล้งตั้งแต่ปีนี้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะกระทบกับภาคเกษตรกรรมโดยตรงแล้ว finbiz by ttb ขอชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ลุกลามไปด้านอื่น ๆ จนไปถึงภาคธุรกิจ ตอกย้ำถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

 

1) เกษตรกรรม ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดว่าปีนี้รายได้เกษตรกรกลุ่ม 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 8.4 แสนล้านบาท ลดลง 3.9% หรือราว 3.4 หมื่นล้านบาท จากปริมาณน้ำฝนที่ต่ำลง แม้ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สามารถใช้ในการเกษตรได้อยู่ แต่ผลกระทบจะเห็นได้ชัดขึ้นในปี 2567

 

2) แรงงาน เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญเชิงระบบของภาคเศรษฐกิจไทย พบว่า ภาคเกษตรเป็นแหล่งสร้างงานให้กับคนไทยเกือบ 13 ล้านคน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 32.2% ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศ จึงได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาคเกษตร

3) การกระจายรายได้ เมื่อรายได้กระทบต่อแรงงานภาคเกษตร ถือเป็นส่วนสำคัญที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะรายได้แรงงานภาคเกษตร เป็นกลไกสำคัญในการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ที่ไม่ได้มีการกระจุกตัวเหมือนกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม

4) อุตสาหกรรมปุ๋ย และเคมีทางการเกษตร ในปี 2567 รายได้อาจหดตัว 24-28% เหลือ 1.92 – 2.04 แสนล้านบาท โดยได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งในด้านราคาและปริมาณ

5) อุตสาหกรรมการผลิต การขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง อาจมีช่วงเวลาที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก

6) การท่องเที่ยว ความแปรปรวนของอากาศอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักท่องเที่ยวไม่สะดวกเดินทางมาท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

7) ความมั่นคง หากปล่อยให้ภัยแล้งลุกลามไปถึงจุดวิกฤต อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

 

จากผลกระทบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “เอลนีโญ” ไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้งที่จะกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่กระทบไปทุกภาคส่วน

 

การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน คือคำตอบ

ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” รุนแรงขึ้นได้ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และพร้อมรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

 

1)ให้ความสำคัญกับหลัก ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยส่งเสริมความยั่งยืนที่จะมีผลต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

2)พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ประหยัดพลังงาน หรือผลิตจากวัสดุรีไซเคิล รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

3) เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะต่าง ๆ  การใช้พลังงานหมุนเวียน

4) กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น การขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่าง ๆ หรือ กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

5) เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับสิ่งผิดปกติ การทำประกันภัยพิบัติ การฝึกอบรมพนักงาน เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น

6) ภาคเกษตรทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือตรวจจับต่าง ๆ อาจสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ หรือเคมีที่ไม่จำเป็นได้ รวมถึงลดการพึ่งพาน้ำจากปริมาณน้ำฝนธรรมชาติ ซึ่งต้องมีระบบและการเตรียมการที่ดี

7) การร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเรียนรู้แนวทางการปรับตัวรับมือกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”  รวมถึงร่วมกันพัฒนาวิธีการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ช่วยให้การทำธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคเกษตรในการปรับตัว รับมือกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และภาวะโลกร้อน เช่น การให้ความรู้และคำแนะนำ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เป็นต้น

 

มีแหล่งเงินทุน เป็นแรงหนุนที่สำคัญ เพื่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเลโดยปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ทำให้มูลค่าสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ในช่วง 2 ปีนี้ เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่าหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม มูลค่ารวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท

 

จากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และผลกระทบดังกล่าว คงจะเป็นสิ่งที่เตือนให้ภาคธุรกิจได้เร่งมือดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยกันลดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะบรรเทาลงได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้

 

 ติดตามสาระความรู้ดี ๆ สำหรับธุรกิจ ได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/finbiz

 

* * * * * *

#finbizbyttb

#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

#ttb #MakeREALChange

* * * * * *

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ