โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี สานพลังความรู้-พลังพหุภาคีปลุกชีพจร “อัมพวา”
ในเทศบาลตำบลอัมพวา ต่อยอดขยายผลโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดีสู่ภาคปฏิบัติ สร้างความอยู่ดีกินดีมีสุขแก่คนพื้นที่ บนฐานนิเวศวัฒธรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน ฟื้นความมีชีวิตชีวาคืนสู่อัมพวา
รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน ระยะที่ 2
มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี เป็นโครงการวิจัย เพื่อแสวงหาข้อมูลและพัฒนาชุดความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนข้อแนะนำจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2564 ภายใต้กรอบการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ จาก บพท.
“การขับเคลื่อนกระบวนการวิจัยของเรา เริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่นอย่างละเอียด และลงสำรวจพื้นที่จริง ร่วมกับภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลอัมพวา องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง และชุมชนบางสะแก โดยบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์-สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ แล้วนำข้อค้นพบมาออกแบบเป็นชุดความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”
รศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวว่า ผลลัพธ์จากงานวิจัยทำให้เกิดผลผลิต แผนที่นิเวศวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับนิเวศวัฒนธรรม ช่างฝีมือท้องถิ่น ศิลปิน ตลอดจนผู้ประกอบการวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในการสร้างความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจและวิถีชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายกฤษฎี กลิ่นจงกล นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าววว่า ต้องขอบคุณ บพท. ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในเรื่องขององค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าจนเกิดเป็นผลงานวิจัย “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และส่งผลทำให้เทศบาลของเรา มีองค์ความรู้ในการฟื้นฟูจิตวิญญาณของอัมพวาให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างมั่นใจ และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองได้เร็วขึ้น
“งานวิจัย “สมุทรสงครามอยู่ดี” ที่ทางเทศบาลได้นำไปต่อยอดมีด้วยกัน 2 เรื่องสำคัญได้แก่ การท่องเที่ยวทางน้ำ และงานด้านศิลปวัฒนธรรม โดยในส่วนของการท่องเที่ยวทางน้ำ ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้จะมีการฟื้นเรื่องตลาดน้ำ ตลาดเรือขึ้นมาใหม่ พร้อมกับมีแผนสร้างคนพายเรือให้ตลาดน้ำในอนาคตด้วย และได้ให้นโยบายกับโรงเรียนว่าเด็กอัมพวาต้องว่ายน้ำได้พายเรือเป็น
ขณะเดียวกันสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ยังช่วยปูทางผลักดันคลองบางจาก ทำให้เกิดกิจกรรมนักท่องเที่ยวมาพายเรือเก็บขยะแล้วเราก็นำไปต่อยอดโดยการนำเด็กนักเรียน ป.5 ป.6 ออกมาเก็บขยะและเกิดเป็นกิจกรรม “พายไปกิน พายไปชิม พายไปอนุรักษ์” จนเกิดเป็นอาชีพมัคคุเทศก์น้อย”
นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา กล่าวด้วยว่า โครงการ “สมุทรสงครามอยู่ดีฯ” ยังถูกนำไปต่อยอดทำให้เกิดกิจกรรมใหม่คือการพายเรือไปชมหิ่งห้อย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อหิ่งห้อยเหมือนเช่นเรือยนต์
โดยเราตั้งเป้าไว้ที่คลองบางจากเพราะอยู่ใกล้อัมพวา แล้วมีต้นทุนที่ดีด้วยทั้งเรื่องอาหาร ขนม บ้านสวน โรงเจ ตรงนั้นก็จะดูเมืองได้ 360 องศาเลย ประการสำคัญคลองบางจากมีสตอรี่ไม่แพ้คลองอัมพวา เป็นอีกตลาดที่คู่กับตลาดน้ำอัมพวาแต่ไม่มีใครรู้ มีโรงเลื่อย มีชาวบ้านมีร้านทองในคลองบางจาก
“โครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท. ทำให้คลองบางจาก ได้รับการยกระดับจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นคลองเฉลิมพระเกียรติ ตามนโยบายหนึ่งจังหวัดหนึ่งคลอง
ซึ่งจะส่งผลให้มีงบประมาณบูรณาการเข้าไปพัฒนาอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้สามารถจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับสายน้ำได้ตลอดทั้งปี และผมตั้งใจให้เรือทุกลำที่จะแล่นในคลองนี้ ต้องปลอดจากเครื่องยนต์ เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นคลองปลอดคาร์บอน หรือ Net Zero”
นายกฤษฏี กล่าวด้วยว่าคุณูปการของงานวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี ยังถูกนำไปต่อยอดงานด้านศิลปวัฒนธรรม เราตั้งชมรมศิลปวัฒนธรรมอัมพวาขึ้นโดยการรวบรวมครูอาจารย์ที่รักในงานด้านศิลปะทั้งครูโขน ครูดนตรีไทย ครูรำ ครูต่าง ๆ มาสอนเด็ก ๆ ในเขตเทศบาลฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย “ผมตั้งใจประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อัมพวา คือ เมืองต้นกำเนิดของรามเกียรติ์ในเมืองไทย เพราะที่นี่คือที่ประสูติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์
โดยตอนนี้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เราจัดให้เด็กแต่งตัวเป็นโขนในรามเกียรติ์มาเดินทักทายกับชาวบ้าน และเรานำตัวละครในรามเกียรติ์มาประดับไว้ในป้ายตลาดน้ำ เพื่อตอกย้ำว่าอัมพวาคือเมืองรามเกียรติ์”
ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ ของคณาจารย์คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผลงานที่น่าชื่นชม สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง สอดคล้องกับเจตนารมย์การสนับสนุนทุนวิจัยของ บพท. ที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งพิสูจน์ยืนยันหนักแน่นจากนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอัมพวา ที่เป็นผู้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
ที่ผ่านมา บพท. มีการสนับสนุนทุนวิจัย ผ่านกลไกเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใน 4 ภูมิภาค เพื่อหนุนเสริมกลไกในพื้นที่ในการเชื่อมความรู้จากทุนทางวัฒนธรรมไปสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ศิลปิน ช่างฝีมือ ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมมือกันออกแบบสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของตนเองใหม่ (Re-designing Community Culture) รื้อฟื้นวัฒนธรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ สร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม
การสร้างสรรค์ และเกิดการสร้าง “นวัตกรทางวัฒนธรรม” โดยเน้นการขับเคลื่อนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่น และช่างฝีมือท้องถิ่น ช่วยกันฟื้นคุณค่าของทุนที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่
“ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา..ท่านนายกฯ กฤษฏี กลิ่นจงกล ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขพันธุ์แท้ของพี่น้องชาวอัมพวา ที่เห็นคุณค่างานวิจัย และนำเอางานวิจัยไปต่อยอดขยายผลใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง
ในกระบวนการฟื้นฟูจิตวิญญาณของอัมพวาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยไปทำให้อัมพวามีชีวิตชีวาที่ยั่งยืน บนฐานภาคีความร่วมมือกันของประชาคมชาวอัมพวา และบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนอัมพวา”