เมื่อ : 01 พ.ย. 2566

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนเป็นประธานเปิดงานประชุมระดมความเห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

 

ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมี รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้กล่าวรายงาน 

ในการประชุมดังกล่าวได้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย และความคาดหวังต่อการสนับสนุนจากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมพญาไท 3 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ กรุงเทพฯ

 

 

 

นางสาวสุชาดา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนโยบายสำคัญ คือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS และมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล บูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยงานหลักในการการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมและพัฒนาประเทศ เน้นประเด็นสําคัญของประเทศ 

 

ซึ่งอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในประเด็นสําคัญที่กระทรวง อว. ต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนํานวัตกรรม เครื่องมือและองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

เลขานุการ รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสําคัญของประเทศ กระทรวงจะเน้นหลักการสําคัญ ตามนโยบายของ รมว.กระทรวง อว. คือ ”เอกชนนํา รัฐสนับสนุน” โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กําหนดทิศทางว่าควรจะทําเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของกระทรวง อว. จะเข้าไปดําเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกําลัง 

 

พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจํากัดต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวง อว. จะมุ่งส่งเสริมการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจํานวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ทอัพ SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

“การดำเนินงานดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน 

 

ตนมั่นใจว่าการประชุมระดมความเห็นในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และเกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” นางสาวสุชาดา กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อกําหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สําคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ นําไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ