เมื่อ : 10 พ.ย. 2566

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม  พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และ พล.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน. เป็นผู้แทน ส่งมอบนวัตกรรมจากงานวิจัย ได้แก่ เครื่องสไลด์กล้วย ตู้อบไล่น้ำมัน เครื่องแยกขุยและเส้นใยเปลือกมะพร้าว ให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีผลิตกล้วยกรอบแก้ว ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีผลิตกล้วยกรอบแก้ว 

 

ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว วช. ได้สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย รศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน เป็นหัวหน้าโครงการ  ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ พัฒนาความเป็นมืออาชีพในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้

 

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันยังส่งมอบนวัตกรรมจากงานวิจัย ชุดอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด ให้แก่วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ำ ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี 

 

ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว วช. ได้สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ให้กับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย ผศ.ดร.ณัฐพล ภูมิสะอาด เป็นหัวหน้าโครงการ นวัตกรรมดังกล่าวสามารถลดปัญหาปริมาณมูลโคและนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีปุ๋ยอัดเม็ด ก่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์จริงสร้างรายได้และลดต้นทุนการทำเกษตรกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงและการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เกิดการพึ่งพาและการจัดการด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ

 

การมอบนวัตกรรมจากงานวิจัยดังกล่าว มุ่งหวังเพื่อไปช่วยแก้ไขปัญหา เสริมสร้างโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพให้กับกลุ่มชุมชนในพื้นที่ ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อส่งมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานเครือข่ายและหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ได้ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมศักยภาพชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก 

 

เกิดชุมชนต้นแบบการใช้นวัตกรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการตนเองและบริหารทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และเกิดการขยายผลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ชุมชนอื่น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น