เมื่อ : 18 พ.ย. 2566

 

รมว.อว.กำชับมหาวิทยาลัยทำงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมต้องตอบโจทย์พื้นที่ ขณะที่บพท.เดินหน้างานวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ ส่วน มอ.ปัตตานีถักทอห่วงโซ่ปูทะเลครบวงจร-สร้างเศรษฐกิจฐานพหุวัฒนธรรม-กวาดล้างความยากจน

 

นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงนโยบายของกระทรวง อว. ในการหนุนเสริมมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ในโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนางพาติเมาะ  สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.อัตชัย  เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และรศ.ดร.ปุ่น  เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้การต้อนรับ มีใจความสำคัญระบุว่า กระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. ในการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้นโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”

 

 

 

 

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รมว.อว. มอบหมายให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว. ทำหน้าที่กำกับติดตามและให้ข้อเสนอแนะการทำงานของสถาบันการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ  เพื่อให้เกิดการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

 

โอกาสนี้ ผศ.ดร.อัตชัย  เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานีรายงานผลลัพธ์ของงานวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. กระทรวง อว. ได้แก่ โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี  

 

ล้วนเป็นงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในจังหวัดปัตตานีให้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรในพื้นที่

 

 

 

 

รศ.ดร.ซุกรี  หะยีสะมะแอ หัวหน้าโครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศฯชี้แจงเพิ่มเติมว่าองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร ที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิจัยร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงปูทะเลและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าของปูทะเลไทย ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น และสามารถยกระดับขึ้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ

 

 

 

 

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ  บัวเนี่ยว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ของโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี เป็นการต่อยอดองค์ความรู้มาจากแผนงานแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของ บพท. ที่ไม่จำกัดนิยามความยากจนไว้เฉพาะมิติทางเศรษฐกิจหรือรายได้ แต่ครอบคลุมทุนในการดำรงชีวิตตามหลักสากล ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์-ทุนเศรษฐกิจ-ทุนกายภาพ-ทุนธรรมชาติ-ทุนสังคม

 

“เราค้นพบว่าคนจนในจังหวัดปัตตานี ขัดสนทุนทั้ง 5 ด้าน และจำเป็นต้องแสวงหาหนทางเสริมเติมให้เพิ่มพูนขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นแกนกลางทำหน้าที่ศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่พัฒนาระบบค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน พัฒนากลไกความร่วมมือ ทั้งในระดับจังหวัดและพื้นที่ พัฒนาระบบปฏิบัติการโมเดลแก้จนที่เหมาะสมตามศักยภาพของคนจนและชุมชน โดยบูรณาการประสานความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างพื้นที่กลางในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”

 

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ ชี้แจงว่า ภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาความยากจน ที่ใช้ฐานข้อมูลความรู้จากงานวิจัยเป็นเข็มทิศนำทาง ทำให้สถานการณ์ความยากจนในจังหวัดปัตตานี ทุเลาลงไปได้มาก คนจนจำนวนมากได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ทักษะอาชีพกระทั่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่คนจนบางส่วนที่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ก็ได้รับการส่งต่อเข้าสู่การดูแลของระบบสวัสดิการของรัฐ

สำหรับโครงการวิจัยวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี 

 

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า มุ่งใช้กระบวนการความรู้จากงานวิจัยไปเสริมพลังของทุนทางภูมิประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเอกลักษณ์สังคมพหุวัฒนธรรมเดิมของจังหวัดปัตตานี ให้มีความแข็งแรง และนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม เพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เป็นรากฐานสร้างความมั่นคงยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานรากในชุมชน

 

 

 

 

รองผู้อำนวยการ บพท.รศ.ดร.ปุ่น 

กล่าวว่า บพท. ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ได้นำเอาแนวนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ไปประยุกต์สู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมให้มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับทุกคน โดย บพท.จะให้ความสำคัญกับการจัดการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Research Area-SRA ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยกระบวนการหลอมรวมองค์ความรู้หลากมิติในพื้นที่ พัฒนาไปเป็นชุดความรู้สู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

สำหรับจังหวัดปัตตานี เป็น 1 ใน  7  จังหวัดต้นแบบพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ที่ขยายผลจากการบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConnext) จนสามารถค้นพบครัวเรือนยากจนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 19005 ครัวเรือน หรือ 109926 คน ด้วยระบบชี้เป้าที่แม่นยำ ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทำให้คนจนเข้าถึงโอกาส การพัฒนานวัตกรรมแก้จน สร้างธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน และการขยายผลบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่กลไกเชื่อมโยงแผนพัฒนาระดับพื้นที่ท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนอย่างตรงเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้คนปัตตานีหลุดพ้นจากความยากจนยกทั้งจังหวัดในปี 2570

 

ทั้งนี้ แนวทางการทำงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน 7 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ภาคเหนือ – ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - กาฬสินธุ์  มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และภาคใต้ - พัทลุง ปัตตานี ยะลา จะช่วยปลดแอกคนจนและครัวเรือนยากจนที่ค้นพบรวม 88988 ครัวเรือน หรือ 385366 คน (ข้อมูล ณ วันที่  13 พฤศจิกายน 2566) เป็นตัวอย่างของจังหวัดนำร่องในการขยายผลงานวิจัยระดับพื้นที่ไปสู่รูปธรรมของการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน  ภายใต้กรอบการทำงานในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) และเกิดมหาวิทยาแก้จนในพื้นที่ที่รู้ลึกรู้จริงในแก้ไขปีญหาพื้นที่