S L B news : สำนักงาน คปภ. ส่งสัญญาณเตือน “ประชาชน” พิจารณาข้อมูลรอบด้านก่อนทำประกันภัยพร้อมเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด กรณีบริษัท “สินมั่นคงประกันภัย” ฟื้นฟูกิจการ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฯ โดยเจ้าหนี้ของบริษัทฯ สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเมื่อครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วบริษัทฯ ต้องรวบรวมเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้และศาลฯ เพื่อพิจารณา
นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัทฯ แก้ไขฐานะและการดำเนินการหลายประการ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เช่น ให้เพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี และให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงิน สินทรัพย์สภาพคล่อง และภาระหนี้สินตามสัญญา ประกันภัย ในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชน ทราบถึงสถานะของบริษัทฯ ตลอดช่วงเวลา ที่อยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และให้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้
สำนักงาน คปภ. เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ สำนักงาน คปภ. รวมทั้งให้ขออนุญาตศาลล้มละลายกลางให้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฯ ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำพิพากษาของศาล สำหรับประเภทสัญญาประกันภัยที่บริษัทฯ ดำเนินการค้าตามปกติ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการติดตามการแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิด ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวให้ครบถ้วนและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยอย่างเคร่งครัด
บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย โดยต้องมีการทำแผนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ สำนักงาน คปภ. ได้กำชับและติดตามให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการค้าตามปกติ และเร่งหาผู้ร่วมทุน ประกอบกับเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศข่าวว่ายังคงขึ้นเครื่องหมาย SP และ NP หลักทรัพย์ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) (SMK) กรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566
โดยเครื่องหมาย SP (Trading Suspension) เป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์
จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว และเครื่องหมาย NP (Notice Pending) เป็นเครื่องหมายกรณีบริษัทจดทะเบียนมีข้อมูลที่ต้องรายงาน ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้จากเว็บไซต์ของ ตลท. (https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=84761601&symbol=SMK)
นอกจากนี้ หน้าเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี (https://www.led.go.th) มีข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ โดยที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ยอมรับแผนตามมาตรา 90/46 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง “ให้ลูกหนี้ ผู้ทำแผน และ จพท. ร่วมกันตรวจสอบกระบวนการ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้ การบันทึกผลคะแนน ระบบประมวลผล และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง” ในการนี้ จพท. จึงกำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งที่ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมตรวจสอบ ณ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ วันละ 12 ท่าน ตั้งแต่วันที่ 6 9-12 และ 16-20 ตุลาคม 2566 เวลา 9.00 – 16.00 น. ตามแบบฟอร์มที่ จพท. กำหนดในเว็บไซต์
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ปรากฏข่าวประชาสัมพันธ์บนหน้าเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี (https://www.led.go.th) ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง “ให้ลูกหนี้ ผู้ทำแผน และ จพท. ร่วมกันตรวจสอบกระบวนการ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้ การบันทึกผลคะแนน ระบบประมวลผล และกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อไปจนเสร็จสิ้น” ในการนี้ จพท. จึงกำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งที่ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมตรวจสอบ ณ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-3 6-10 13-17 และ 20-23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 – 16.00 น. ตามแบบฟอร์มที่ จพท. กำหนดในเว็บไซต์
ทั้งนี้ ประชาชนควรพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนทำประกันภัย โดยสามารถติดตามข้อมูล
เกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทฯ ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ (https://www.smk.co.th/investor) เว็บไซต์ของ
สำนักงาน คปภ. (https://www.oic.or.th/th/smk)
ส่วนเจ้าหนี้ของบริษัทฯ สามารถติดตามความคืบหน้าของคดี
และรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี (https://www.led.go.th) หากมีข้อสงสัยเรื่องประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th