เมื่อ : 09 ธ.ค. 2566

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิดงาน “9 ทศวรรษ รวมตัวสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน: SDU Community Engagement Expo 2023” 

 

ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ให้การต้อนรับ พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

 

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. 

กล่าวว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัด โดยมุ่งเน้นพัฒนาชุมชนที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักคือ การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เกิดการพัฒนาและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาค 

 

ในส่วนของการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ของกระทรวง อว. มุ่งเน้นด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามแนวคิด “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” รวมถึงการทำให้ กระทรวง อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ ประชาชน ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดยรอบของมหาวิทยาลัย รวมทั้งขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

 

นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศบนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

 

พร้อมทั้งขยายผลการนำองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” โดยความร่วมมือร่วมกับภาคจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ทำให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดของภาคจังหวัดสุพรรณบุรีในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

 

 

 

ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดงาน “9 ทศวรรษ รวมตัวสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน: SDU Community Engagement Expo 2023” ภายใต้โครงการวิจัย  เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” 

 

ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จังหวัดสุพรรณบุรี และ 8 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรมราชทัณฑ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 

 

 

 

ภายในงานดังกล่าวจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดแสดงผลงานการขับเคลื่อนการดําเนินงานพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

การจัดงาน “9 ทศวรรษ รวมตัวสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน: SDU Community Engagement Expo 2023” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่การส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัย 

 

 

 

พร้อมทั้งการนำเสนอการดำเนินงานโครงการวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุน ได้แก่ โครงการวิจัย  เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” ดำเนินการโดย รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ในการผลิตภัณฑ์การเกษตรในจังหวัดยกระดับสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัย และผลิตภัณฑ์การเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร 

 

โดยมีโจทย์สำคัญในการดำเนินงาน ในการยกระดับคุณค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างครบวงจร และโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดกระบวนการผลิตตุ๊กตาไทยทรงดำบรรจุสมุนไพรหอมเพื่อการพาณิชย์” ดำเนินการโดย ผศ.รุจิราภา งามสระคู แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมโดยนำวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยทรงดำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ