เมื่อ : 19 ก.ย. 2565

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ และมีนายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมในพิธีเปิดงานฯ ในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย และเยาวชนนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีบทบาทและหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสร้างคุณค่างานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม โดยจัดให้มีพิธีมอบ “รางวัลการวิจัยแห่งชาติ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี 
โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อต่อยอด ไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้มี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้าง “เศรษฐกิจแข็งแรง ชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” โดยใช้การวิจัย การประดิษฐ์ และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการนำพาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0

กิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในส่วนของรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นเวทีที่ให้นักประดิษฐ์ได้นำผลงานการประดิษฐ์คิดค้นออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเพื่อให้คณะทำงานพิจารณาประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนพูดคุยประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาผลงานต่อไป