S L B news : กสศ. สปสช. จับมือท้องถิ่นทั่วประเทศ ช่วยเด็กยากจนเข้าถึงสิทธิคัดกรองสายตาและตัดแว่นฟรี หลังพบเข้าไม่ถึงบริการ ไม่รู้สิทธิ
แม้ว่าเด็กไทยอายุ 3-12 ปี หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติควรได้รับการแก้ไข ก็จะได้รับแว่นตาฟรีทุกปีจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ข้อมูลจาก กสศ. ชี้ว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูง เช่น ค่าเดินทาง
ปัญหาสุขภาพสายตา เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และมีส่วนทำให้เด็กหลุดจากระบบในระยะยาวได้ กสศ. สปสช. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศ เปิดโครงการ I SEE THE FUTURE ร่วมมือกับ 3 จังหวัด ปัตตานี สุรินทร์ สมุทรสงคราม สร้างกลไกท้องถิ่นเป็นต้นแบบของประเทศเพื่อเด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพทันที
ด้าน สปสช. ขอให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ เสนอแผนสุขภาพ เพื่อให้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนำเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินสายตาเมื่อครบ 6 เดือน
วันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567 ที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดเกษมสรณารามฯ จังหวัดสมุทรสงคราม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สมุทรสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม และเทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกันจัดกิจกรรม “โครงการI SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” การออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2567
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาสายตาบกพร่องในเด็ก หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพการเรียนรู้ ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ มีปัญหาการเรียนในระยะยาว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลุดจากระบบการศึกษา และกระทบต่ออนาคตในที่สุด
แม้ว่าที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดบริการทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยทั่วประเทศผ่านสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน และรักษาโรคด้วยการบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง สำหรับปัญหาสายตานั้น เด็กไทยอายุ 3-12 ปี หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติควรได้รับการแก้ไข ก็จะได้รับแว่นตาเพื่อแก้ภาวะสายตาตามสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทุกปี แต่พบว่ายังมีประชากรบางกลุ่ม อาทิ เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เข้าไม่ถึงบริการการคัดกรองและรักษาปัญหาสายตาผิดปกติ
สปสช. จึงร่วมมือกับ กสศ. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ริเริ่ม โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา I SEE THE FUTURE เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานท้องถิ่น เป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษาในพื้นที่ ช่วยให้เด็กยากจน ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย
โดยเริ่มต้นที่ ปัญหาสายตา
“สปสช. จะทำหนังสือประสานแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศว่า สปสช. พร้อมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนสุขภาพที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพสายตาของเด็ก ๆ ในพื้นที่ สร้างกลไกในการประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้
พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กปท. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนำเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินสายตาเมื่อครบ 6 เดือน” นพ.จเด็จ กล่าว
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่าปัญหาด้านสายตาเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง และพยายามสร้างกลไกการดูแลอย่างทั่วถึงและยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ “โครงการI SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ของ กสศ. เลือกจังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง เพราะโครงการนี้จะช่วยให้จังหวัดมีกลไกเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการ การทำงานดูแลสุขภาพดวงตาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนและขาดโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องการกลไกในการดูแลที่ครอบคลุมและทั่วถึง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการจัดแคมเปญขับเคลื่อนในครั้งนี้ จังหวัดสมุทรสงครามจะจัดประชุมหน่วยงาน ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อนำกลไกที่ได้ไปขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากโครงการชัดแจ๋ว ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ HITAP ระบุว่า มีเด็กไทยระหว่างอายุ 3 ถึง 12 ปี ถึง 4.1% มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการวัดสายตาและตัดแว่น
โดยหากไม่ได้รับแว่นหรือมีการดูแลสายตาอย่างเหมาะสม สายตาของเด็กกลุ่มนี้ ก็มีโอกาสที่จะลุกลามไปสู่การมีอาการตาขี้เกียจหรือตาบอด ซึ่ง 4.1% ดังกล่าว เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในช่วงวัยเดียวกัน จากข้อมูลของปี 2563 พบว่าทั่วประเทศอาจจะมีเด็ก ยากจนหรือยากจนพิเศษ ที่ต้องได้รับการตัดแว่นเร่งด่วน ถึง 50000 คน
อย่างไรก็ตามงานวิจัยของ กสศ. พบว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะต้องมีภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทางเพื่อรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด บางรายต้องมีค่าใช้จ่ายในการเหมารถเพื่อไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดซึ่งอยู่ห่างออกไปหลาย 10 กิโลเมตร มากกว่า 900 บาท
ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า เพื่อแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ โครงการ I SEE THE FUTURE จึงพัฒนาต้นแบบการทำงานที่สนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพ เชื่อมโยงความร่วมมือในพื้นที่ และทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนที่ยากจน ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองสายตาและเข้ารับการรักษา และรับแว่นตา กรณีสายตามีปัญหา ได้อย่างทันท่วงที
โดยจะนำร่องจัดกิจกรรมเพื่อคัดกรองสายตา ก่อนส่งมอบแว่นให้เด็กที่มีความผิดปกติทางสายตา พร้อมกับเก็บข้อมูลเพื่อค้นหาผลลัพธ์การเรียนรู้หลังจากได้รับแว่นสายตาแล้ว ในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัด คือจังหวัดปัตตานี สุรินทร์และสมุทรสงคราม รวมจำนวนเด็กกว่า 15000 คน โดยคาดว่าหลังจากดำเนินการ จะมีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับแว่นตา ประมาณ 2000 คน
ทีมวิจัยของ กสศ. ทีมงานสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย จะร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของทั้งสามจังหวัด พัฒนาแผนสุขภาพที่ช่วยสร้างหลักประกันการเข้าถึงการศึกษา และสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพและการศึกษาที่เข้มแข็งในพื้นที่ มีกระบวนการคัดกรองและส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตา ได้ในระยะยาว
“ประเทศไทยมีสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่เด็กกลุ่มยากจน ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงสวัสดิการเหล่านี้ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในการปิดช่องว่างของระบบ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้น เพราะปัญหาสุขภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้โรงเรียนมีแนวทางในการลดภาระเรื่องการตรวจคัดกรองและส่งมอบแว่นให้เด็กที่มีความผิดปกติทางสายตา และยังพัฒนาชุดคัดกรองปัญหาสายตาเพื่อให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข ครู ผู้ปกครอง ในการสังเกตอาการเบื้องต้น และช่วยให้มีเครื่องมือวัดสุขภาพสายตาที่มีการอัปเดตและใช้งานง่ายขึ้น
องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลสุขภาพสายตาให้เด็กและเยาวชนในชุมชนในระยะยาว เพื่อเป็นระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน เพิ่มโอกาสเข้าถึงการเรียนรู็ให้แก่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสในทุกพื้นที่
นายศิริชัย คุ้มโห้ ตัวแทนสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาด้านสายตาในเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือควบคุมดูแลอย่างถูกต้อง ปัญหาสายตาที่เด็กคนนั้นประสบอยู่ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขึ้นทุกปี ตามอัตราการเจริญเติบโตของเด็กที่โตขึ้นทุกปี
โดยปัญหาด้านสายตาที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากกระบอกตาที่ยาวขึ้น จนส่งผลให้จอตามีความโค้งได้มากกว่าปกติ โดยกระบอกตาที่ยาวขึ้น จะทำให้เกิดทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคตามากขึ้นตามมา หากไม่ได้รับการแก้ไข เด็กคนนั้นก็จะสูญเสียการการมองเห็นและการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยไม่รู้ตัวเลยว่า ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะเด็กมักจะคิดว่าภาพที่เห็น เป็นเรื่องปกติของตัวเองหรือคนอื่น ๆ และปัญหาเกิดขึ้นตามมาและเห็นได้ชัด คือ การเรียนของเด็กคนนั้นจะแย่ลง
“สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดเด็กอย่างครูประจำชั้น สามารถตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า เด็กมีความผิดปกติทางสายตา คือ เด็กคนนั้นจะไม่เล่นซน ปีนป่าย ไม่ค่อยกล้าออกไปเล่นนอกบ้าน หรือต้องหรี่ตาบ่อยๆ เวลามองกระดานดำในห้องเรียน หากพบเจออาการดังกล่าว ผู้ปกครองหรือครู ควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนหรือใกล้บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือนการตรวจวัดสายตาเบื้องต้น และรักษา ตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป”ตัวแทนสมาคมนักทัศนมาตรแห่งประเทศไทยกล่าว