S L B news : ดร.เอ้ ชี้ทางรอดวิกฤตฝุ่นพิษ ต้องกำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone” นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นในทันที หลังค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐานสูง กทม.ประกาศขอความร่วมมือ WFH
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ “ดร.เอ้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. กล่าวว่า วันนี้สถานการณ์ฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤตมาก ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ส่วนใหญ่ของพื้นที่เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ไขหรือให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจ มีข้อบัญญัติที่จะจัดการได้ทันที โดยเฉพาะเรื่องรถขนส่งที่ปล่อยควันดำที่ไปไซต์งานก่อสร้างใน กทม. ก็ยังเติมฝุ่นมาทุกวัน ๆ “ภัยฝุ่น PM2.5 น่ากลัวจริง
วันนี้เราต่อสู้กับมันน้อยเกินไป ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่เราต้องจัดการในทันที ลูกหลานคนไทยสูดพิษร้าย สะสมในร่างกายทุกวัน เมื่อไหร่เราจะดุดัน เอาจริงเอาจัง จัดการกับต้นเหตุเสียที ฝุ่นใน กทม.ส่วนใหญ่เกิดจากรถขนส่งขนาดใหญ่ ปล่อยฝุ่น หากเอาจริงเอาจังจะช่วยลดฝุ่นได้เยอะมาก
โดยเฉพาะในใจกลางเมืองที่รถวิ่งหนาแน่น”ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว ทั้งนี้ หลังค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐานสูง กทม.ได้ประกาศขอความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนให้ Work From Home ในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ ซึ่ง ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พูดถึงปัญหาและอันตรายจากฝุ่นพิษมาโดยตลอด เพราะเป็นห่วงคุณภาพชีวิตลูกหลานคนไทย พร้อมได้เคยนำเสนอวิธีแก้ปัญหาฝุ่นพิษอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้องทำทันที รอไม่ได้ นั่นคือ ให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง
สำหรับสาเหตุที่ต้องนำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน เพราะเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผล กระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก และมีพื้นที่การก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ รวมไปถึงพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากกว่าพื้นที่อื่น “เขตมลพิษต่ำ เป็นการประกาศพื้นที่ในการควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง เสมือนพื้นที่สนามรบที่เราจะต้องเอาชนะ ขับไล่ PM 2.5 ยึดคืนอากาศสะอาดกลับคืนมาให้ได้
ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ เพราะนี่คือเป้าหมาย และวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้แล้ว”ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในเมืองต้นแบบที่นำวิธีการกำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำมาใช้ จนประสบความสำเร็จ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ “กรุงลอนดอน” ประเทศอังกฤษ ที่วันนี้ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่เหตุการณ์ วิกฤตหมอกควัน จนตอนนี้กลับกลายเป็นเมืองที่อากาศสะอาดกว่ากรุงเทพไปแล้ว
ซึ่งการประกาศ “เขตมลพิษต่ำ” ในกรุงลอนดอน ทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้ลอนดอนลดมลพิษจากท้องถนนได้ รวมทั้งควบคุมการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ ขณะที่ให้ประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการก่อสร้างที่ป้องกันฝุ่น หรือ ”ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีก็ต้องถูกปรับ” ยุติธรรม