เมื่อ : 29 ก.พ. 2567

 

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา :
Smart Invention & Innovation ปี 2567 ภาคใต้  พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ฐานนวัตกรรม” พร้อมด้วย ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมบรรยายพิเศษ

 

กิจกรรมบ่มเพาะครั้งนี้ จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)  ในระหว่างวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาสายอาชีวศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรม อย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐาน

 

 

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ครั้งที่ 4 ในภาคใต้ ยังคงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  และการเข้าใจถึงบริบทโลกที่จะส่งผลต่อมิติการพัฒนาของประเทศ 

 

ซึ่งการบ่มเพาะในกิจกรรมครั้งนี้ จึงเป็นอีกกลไกในการพัฒนาและยกระดับคนในมิติต่างๆ ที่มีความพร้อมต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วช. จึงร่วมกับ สอศ. วางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

 

 

ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ขับเคลื่อนอาชีวศึกษากับการพัฒนาประเทศ” กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาทุกแห่งต้องส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาได้ “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิด “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” และ “การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” 

 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องขับเคลื่อนตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” นโยบายดังกล่าว สอศ. นำมากำกับทิศทางการจัดอาชีวศึกษา ให้เกิดการพัฒนา ริเริ่ม และสร้างสรรค์งานใหม่ นอกจากนี้ การขับเคลื่อนงานอาชีวศึกษาเน้น การจัดการอาชีวศึกษาทำงานแบบรอยต่อไร้ตะเข็บ เน้นทีมเวิร์ก สานงานต่อ ก่อเริ่มงานใหม่ ด้วยหัวใจเดียวกัน “OVEC ONE Team” ผ่านนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 Agenda งานพัฒนาอาชีวะ 1.ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา 2.พัฒนากักษะวิชาชีพเพื่อลดภาระของผู้เรียนและผู้ปกครอง 3.ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง 4.พัฒนาระบบการเทียบระดับการศึกษาและคลังหน่วยกิจการอาชีวศึกษา (Credit Bank) 5.พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อการศึกษาและทำงาน 6.สร้างช่างชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพเสริม ( 1 วิทยาลัย 1 ช่างชุมชน ) 7.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการ 8.เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุค

 

พร้อมกันนี้ ในกิจกรรมบ่มเพาะได้มีการแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติตามกลุ่มเรื่อง ดังนี้
(1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 
(2) ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
(3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 
(4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ
(5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

กิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2567 ภาคใต้ ครั้งนี้ วช. จัดในรูปแบบการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การบรรยายความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Creative Thinking for Creative Innovation 

 

เทคนิคการนำเสนอผลงาน จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งท่านได้มาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคต