S L B news : “รมว. ศุภมาส ห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ วศ.อว. เร่งสร้างความมั่นใจผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ
วันที่ 3 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และสร้างปัญหาสุขภาพ รวมถึงความปลอดภัยให้กับประชาชน
โดยที่กระทรวง อว. มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน ระบบการตรวจห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ ในการตรวจวัด ติดตามและแจ้งเตือนหน่วยงานต่างๆในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. กล่าวว่า ตามนโยบายท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่เน้นย้ำ การพัฒนาประเทศ โดยการนำความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเน้นย้ำการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
กรมวิทยาศาสตร์บริการเดินหน้าสนับสนุนห้องปฏิบัติการทดสอบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน (NQI) ที่สำคัญให้เป็นห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวิเคราะห์ มีการประกันคุณภาพ (quality assurance) และการควบคุมคุณภาพ (quality control) ที่จำเป็นต่อการตรวจวัด วิเคราะห์ ทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำกับดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี พ.ศ. 2567 วศ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 9 รายการ เดินหน้าสนับสนุนห้องปฏิบัติการฯ และพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวิเคราะห์ทดสอบที่สามารถยืนยันได้ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (บท.) วศ. ซึ่งเป็นผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing PT) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 ได้รับรองระบบการเป็นผู้จัดทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17043 จากหน่วยงานรับรอง Taiwan Accreditation Foundation (TAF) ประเทศไต้หวัน
เร่งผลักดันสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่มีบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ กากอุตสาหกรรม ที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีการบำบัดก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency testing) หรือเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboralatory) เพื่อประเมินสมรรถนะและการพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 มีความสามารถวิเคราะห์ ทดสอบรายการที่สำคัญ เช่น การหาปริมาณโลหะหนักในน้ำ (Heavy metals (As Cd Cr Cu Fe Mn Ni Pb Se and Zn) in water) การตรวจวัดค่าปรอทในน้ำ และการหาค่า COD BOD TSS TDS ในน้ำ เป็นต้น
ซึ่งการตรวจสารเคมีเหล่านี้ ห้องปฏิบัติการฯ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีความมั่นใจการผลการตรวจวิเคราะห์ว่ามีปริมาณโลหะหนักไม่เกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด หรือตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการสร้างมลพิษ ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีหรือจุลินทรีย์ประเภทต่าง ๆ ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ เช่น ลำธาร แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
กรณีผู้ประกอบการ และประชาชนต้องการสร้างความมั่นใจในผลการวิเคราะห์ด้วยกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจาก วศ. เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงที่ได้มาตรฐานของประเทศ ติดต่อสอบถามได้ที่ 0-2-201-7000 หรือ www.dss.go.th