เมื่อ : 11 มี.ค. 2567

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก ไม่สามารถผลักดันสู่การใช้งานจริงได้ เนื่องจากขาดการรับรองคุณภาพของผลงานวิจัย โดยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมส่วนใหญ่ยังไม่มีเกณฑ์กำหนดหรือมาตรฐานมารับรองคุณภาพ ตนเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้เร่งให้มีจัดทำมาตรฐานเพื่อมาใช้อ้างอิงในการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย 

 

โดยได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาดำเนินการเพื่อนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนระดับพื้นทึ่

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ท่านรัฐมนตรี อว. ที่เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย วศ.อว. ในฐานะองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organization หรือ SDO) ของประเทศไทย ได้ประสานความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว. ในการจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล 
 

 

 

ล่าสุด วศ.อว. ได้จัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab) เพื่อใช้อ้างอิงในการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเฝือกขาจากยางพารา จนขณะนี้สามารถผลักดันให้สามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย (Thailand Innovation) ของสำนักงบประมาณ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.

 

ซึ่งนับเป็นการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ด้วยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่า (Value Creation) แก่ผลิตภัณฑ์

งานวิจัยเฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab) นี้เป็นผลงานวิจัยของนายแพทย์นิยม  ละออปักษิณ และทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเกิดขึ้นตามนโยบายการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) 

 

โดยพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์ทางเลือกใช้แทนเฝือกปูนแบบเดิม  ข้อดีของเฝือกขาจากยางพารา คือ มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทำความสะอาดง่าย สะดวกต่อการใช้งาน สามารถใส่เองที่บ้านได้และมีประสิทธิภาพในการประคองข้อเท้าได้ดี ด้วยคุณสมบัติของยางพาราทำให้ผลิตภัณฑ์เฝือกที่ได้มีความแข็งที่เหมาะสมกับการใช้งานเป็นเวลานาน งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แต่ยังไม่มีการนำไปใช้งานจริงเนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานที่ใช้ในการรับรองคุณภาพของเฝือกขาที่ผลิตขึ้น 

 

 

 

จนกระทั่ง วศ.อว. เข้าไปมีส่วนในการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะของเฝือกขายางพาราดังกล่าว และได้ประกาศใช้ ”ข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา “DSS 4” ซึ่งได้กำหนดคุณลักษณะต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ปริมาณยางพารา สมบัติทางฟิสิกส์ เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพของเฝือกขาจากยางพาราที่ผลิตได้และสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการรับรองคุณภาพการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง 

 

ทั้งนี้บัญชีนวัตกรรมไทยเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมไทย โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีคุณภาพตรงตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยหน่วยงานของรัฐที่มีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างที่ตรงตามรายการในบัญชี สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้

นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน ต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ