S L B news : ลดเหลื่อมล้ำ! “ศุภมาส” มอบนโยบาย ทปอ. เปิดเผยข้อสอบทุกรายวิชา TCAS ของปีเก่า ให้นักเรียนรู้แนวข้อสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายเรียนติว สร้างความเท่าเทียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ทุกคน
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมให้มากที่สุดครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ตนจึงได้มอบแนวนโยบายให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ร่วมมือกับกระทรวง อว. ในการเปิดเผยข้อสอบในรายวิชาต่างๆ ที่มีการจัดสอบในระบบ TCAS ของปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนได้ทราบแนวข้อสอบ นอกเหนือจากพิมพ์เขียว (Blueprint) ของข้อสอบที่ระบบ TCAS ได้นำเสนอผ่านเว็บไซต์ https://www.mytcas.com/
โดยขอให้ร่วมคิดวิธีการที่จะเปิดเผยข้อสอบอย่างไร ระยะเวลาใด ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูผู้สอนในโรงเรียน
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกือบทุกครอบครัวต่างมองว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหมายถึงอนาคตของเด็ก ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนทุ่มเทและวางแผนชีวิตกันล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ปี กลุ่มที่มีโอกาสทางสังคมสูงกว่าก็จะมีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ มากกว่ากลุ่มที่ขาดโอกาสการเข้าถึง ด้วยข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทย จึงมีค่านิยมในเรื่องการเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะเมื่อจบการศึกษาก็จะได้มีโอกาสได้งานทำหรือศึกษาต่อในต่างประเทศได้มากกว่า
แม้ว่าระบบ TCAS จะออกแบบระบบให้รองรับความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย โดยดูจากรอบของการคัดเลือกที่เปิดให้มีหลายรอบ ได้แก่ รอบ 1 (พอร์ตโฟลิโอ) สำหรับผู้มีประวัติ ผลงงาน ความสามารถโดดเด่น รอบ 2 (โควต้า) สำหรับผู้เรียนในพื้นที่ รอบ 3 (แอดมิชชั่น) เป็นรอบที่ใช้คะแนนจากผลการสอบรายวิชานำมาเป็นเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก โดยการสอบรายวิชาที่กำหนดให้มีรายวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) รายวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (TPAT) และรายวิชาเชิงวิชาการ (A-level) ซึ่งทาง ทปอ. จัดให้เป็นการสอบระดับชาติ จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศทุกจังหวัด โดยเป็นรอบที่นักเรียนให้ความสนใจมากที่สุดจากจำนวนหลักสูตร และมีจำนวนที่นั่งที่รองรับไว้กว่า 2 แสนที่นั่ง จาก 60 สถาบันอุดมศึกษา
“แต่จุดสำคัญของปัญหา (Pain Point) ที่สังคมเรียกร้องมาโดยตลอด คือ ความต้องการที่จะเห็นข้อสอบในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการซื้อขายข้อสอบที่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ หรือได้ข้อสอบมาจากโรงเรียนกวดวิชา เกิดรายได้จำนวนมากให้โรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ จนเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้ต้องเรียนจากโรงเรียนกวดวิชานี้เท่านั้นสร้างแบรนด์ของโรงเรียนกวดวิชาได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นทุกปี”
น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
“ผลของการเปิดเผยข้อสอบนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มนอกเหนือจากตัวนักเรียนเองที่จะเกิดความเสมอภาคทางสังคมในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ในกลุ่มครูผู้สอนในโรงเรียนก็ยังได้ศึกษาเนื้อหาข้อสอบเพื่อนำไปปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการนักเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา
พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือจาก ทปอ. ได้ช่วยเหลืออบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไปด้วย ในส่วนของผู้ปกครองก็คงจะสบายใจและลดภาระทางเศรษฐกิจได้บ้าง กับการเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานได้เข้าถึงระบบอุดมศึกษาได้ง่ายขึ้น เป็นการนำอนาคตที่ดีมาไว้ในมือของเยาวชนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาก็จะได้ผู้เรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเรียนจบในหลักสูตรเป็นกำลังสำคัญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ”