เมื่อ : 15 มี.ค. 2567


เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว.โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) เพื่อร่วมกันศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เข้าร่วม ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี
.
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง NASA และ GISTDA เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางของกระทรวง อว.ที่ต้องการผลักดันนโยบายให้สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง นับเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่สะท้อนถึงความสำเร็จ จากความทุ่มเทที่ต้องการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ในการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกวันนี้มลพิษทางอากาศนับว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือนี้จะมีการใช้ประโยชน์ที่ได้จากการสำรวจทางอากาศ การสำรวจด้วยดาวเทียม รวมถึงภาคพื้นดินเพื่อนำมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหา การจัดการและลดมลพิษทางอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยต่อไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง อว.ที่ได้วางไว้
.
 

 

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย NASA เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ศึกษาปัญหาคุณภาพอากาศในเอเซีย โดย NASA จะทำงานร่วมกับหน่วยงานในภูมิภาคเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษาด้านอากาศโดยใช้เครื่องบิน สถานีภาคพื้นดิน และดาวเทียมสำรวจ ซึ่งโครงการนี้ NASA มีความร่วมมือกับ พันธมิตรในเอเชีย 5 ราย ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย 

 

โดยมี GISTDA ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งทีมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อทำงานร่วมกับ NASA โดยทีมวิชาการประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในการบินเพื่อเก็บข้อมูลอากาศในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานทางทหารที่เกี่ยวข้อง (กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมแผนที่ทหาร) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) 
.
 

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ NASA ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ GISTDA จัดขึ้นภายใต้โครงการนี้ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติด้านอวกาศและดาวเทียมให้กับนิสิตนักศึกษาภายใต้โครงการ GLOBE ณ Space Inspirium อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กิจกรรมการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากนักบินและนักวิทยาศาสตร์ NASA กับนักวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศในการศึกษาและสำรวจมลพิษทางอากาศ 

 

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจคุณภาพอากาศในประเทศไทย ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงปัจจัยที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการติดตามสถานการณ์การประเมินการปล่อยแก๊สจากแหล่งต่างๆ ปรากฏการณ์ทางเคมี รวมถึงผลกระทบจากด้านการขนส่งประเภทต่างๆ โดยผ่านการสร้างแบบจำลองที่หลากหลายเพื่อใช้สำหรับการออกแบบนโยบาย ในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว