เมื่อ : 25 มี.ค. 2567

 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัววิจัยนวัตกรรม “ชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตนเอง” ต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อการเข้าถึงและความมั่นคงของระบบสุขภาพไทย ร่วมกับผู้บริหารภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงทีมวิจัย 

 

โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มมหาวิทยาลัย ศ.ดร.นพ. ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ผู้ช่วย ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤตแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส รอง ผอ.สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ศ.ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ ผอ.ศูนย์ตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล (Qualified Diagnostic Development Center) ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คุณนริศา มันฑางกูร ผอ.โปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และคุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี สื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้อง 1202 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

 

 

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ทีมวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และบริษัท บีเจซี เฮลท์แคร์ จำกัด ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการ “ชุดทดสอบไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ” เพื่อตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิจัยและพัฒนาในหลายภาคส่วน และได้มีการทดสอบประสิทธิภาพที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และขยายผลไปสู่การคัดกรองในระดับพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 

 

โดยชุดทดสอบไมโครอัลบูมินในปัสสาวะมีจุดเด่นคือ ผู้ใช้งานสามารถตรวจระดับการทำงานของไตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งง่ายต่อการใช้และการอ่านผล ทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของนโยบายเชิงรุกที่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสามารถนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไตในระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการตระหนักรู้และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง

 

 

 

รมว.อว.กล่าวต่อว่า งานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ปัจจุบันเรามีงานวิจัยจำนวนมาก ที่รอการสนับสนุนและต่อยอดสู่การช่วยเหลือสังคม รวมทั้งแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างเร่งด่วน 

 

โดยเฉพาะงานวิจัยด้านการแพทย์ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากเกินกำลังในการดูแล ส่งผลต่อการบริการด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด หากเราสามารถนำงานวิจัยที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด เพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศได้เป็นอย่างมาก

 

“งานนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องการช่วยกันพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้มีโอกาสตรวจคัดกรองโรคไตเบื้องต้น ทำให้สามารถป้องกันและวางแผนการดูแลตนเองได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม สอดคล้องกับแนวทางของสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาเพียงอย่างเดียว” นางสาวศุภมาส กล่าว