เมื่อ : 30 มี.ค. 2567

 

นางสาวสิริพักตร์  สุวรรณทัต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดให้มีระบบฐานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามมาตรฐานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT security) และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

 

พร้อมออกประกาศนายทะเบียนให้บริษัทรายงานข้อมูลการรับประกันภัยทันทีที่รับประกันภัย (Realtime) ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับการดูแลจากระบบประกันภัย อาทิ โรงพยาบาล สามารถตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้การรักษาตามสิทธิแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถได้ทันท่วงที 

 

อีกทั้ง ได้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวกับกรมการขนส่งทางบกผ่าน Web Service ด้วยช่องทาง Leased Line ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีการเข้ารหัสข้อมูลทำให้มีความปลอดภัย และตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. ได้ อันส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจรในการชำระภาษีรถประจำปี และกรมการขนส่งทางบกไม่ต้องเรียกเก็บหลักฐานส่วนท้ายของตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อีกต่อไป อันถือเป็นการปรับกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

 

 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการ สำนักงาน คปภ. จึงออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 31/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มี แถบโฮโลแกรม (Non-hologram) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นมา อันถือเป็น “ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. รูปแบบใหม่ “ไม่มีแถบโฮโลแกรม”” ที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยคำนึงถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental Social and Governance : ESG)

 

 โดยให้บริษัทประกันภัยที่มี
ความพร้อมในการนำส่งข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. แบบ Realtime และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การให้ ความเห็นชอบที่กำหนดไว้ในคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สามารถยื่นขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) ได้

 

โดยปัจจุบัน นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความดังกล่าว ให้แก่บริษัทประกันภัย 
จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทูนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นิวอินเดีย แอสชัวรันส์ จำกัด (สาขาประเทศไทย)  บริษัท วิริยะประกันภัย จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ไอแคร์ประกันภัย จํากัด (มหาชน)

 

 

 

 

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) หลังซื้อได้ทันที (Realtime) ตามช่องทางการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวที่ได้ระบุไว้ในบริเวณส่วนท้ายของหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ออกโดยบริษัทประกันภัยเป็นฉบับจริง 

 

นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการปฏิบัติงานร่วมกันของสำนักงาน คปภ. และกรมการขนส่งทางบก เป็นไปอย่างเป็นเอกภาพ และคุ้มครองสิทธิของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้เร่งรัดและติดตามการนำส่งข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. ของบริษัทที่รับประกันภัย พ.ร.บ. ทุกแห่ง มายังฐานข้อมูล CMIS 
อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบ Infographic เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยทราบถึงข้อมูลของ
ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) และประกาศรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับ
ความเห็นชอบจากนายทะเบียน ผ่านการประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th)

ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่จะถึงนี้ ขอฝากความห่วงใยให้ผู้ใช้รถ นอกจากความพร้อมของรถและผู้ขับขี่ก่อนเดินทางแล้ว ขอให้ตรวจสอบอยู่เสมอว่า ประกันภัย พ.ร.บ. ของท่าน ยังไม่ขาดอายุ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน
 

กรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากรถ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์สามารถเลือกซื้อ “ประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ระยะยาว” ที่ให้ความคุ้มครองยาวขึ้นจาก 1 ปีเป็น 3 ปี 4 ปี หรือ 5 ปีได้ พร้อมได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ในทุกขนาด ซี.ซี. ด้วย สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่า การไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. 
มีโทษปรับ คือ หากเป็นเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. มีโทษปรับสูงสุด 10000 บาท หรือหากมีการนำรถไปใช้ 
ผู้ใช้รถมีโทษปรับสูงสุด 10000 บาท ในกรณีที่เป็นเจ้าของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. และนำรถคันดังกล่าวไปใช้ 
จะมีความผิด 2 กระทง คือ มีโทษปรับสูงสุดถึง 20000 บาท

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ