เมื่อ : 20 เม.ย. 2567

 
ปัจจุบันประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมคลายร้อนของผู้บริโภค ถ้าหากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค

     

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนว่า น้ำแข็งเกิดจากการนำน้ำเข้าสู่กระบวนการลดอุณหภูมิจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง น้ำแข็งในไทยหลัก ๆ แบ่งได้ 2 แบบ คือ น้ำแข็งป่นและน้ำแข็งหลอด 

 

 

 

ทั้งนี้ น้ำแข็งที่ปลอดภัยสามารถนำมารับประทานได้ต้องผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ สถานที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต คุณภาพน้ำที่ใช้ผลิต ภาชนะบรรจุ กระบวนการบรรจุ กระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ 

 

รวมไปถึงสุขลัษณะของผู้ปฎิบัติงานและการควบคุมเรื่องสัตว์แมลงต่าง ๆ อีกทั้งผู้บริโภคต้องสังเกตรายละเอียดบนฉลาก โดยข้อสังเกตของน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะ ประกอบด้วย
1. มีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
2. มีเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
3. มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม ที่ชัดเจน
4. บรรจุอยู่ในถุงหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและอยู่ในสภาพดีไม่มีรอยฉีกขาด
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้อน้ำแข็งจากผู้ขายรายนั้น หากพบตะกอนบริเวณก้นแก้วหลังจากน้ำแข็งละลาย 
6. หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือขวดน้ำก็ตาม ในถังน้ำแข็งควรมีแต่น้ำแข็งและที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเท่านั้น
7. หลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่งโดยถุงกระสอบหรือน้ำแข็งบดบรรจุกระสอบ
     

ทั้งนี้ วศ.อว. แนะนำให้ผู้บริโภคปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งที่จะบริโภคต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง โดยเลือกซื้อจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ