S L B news : ทิพยประกันภัย ชวนคนไทยเรียนรู้ศาสตร์แห่ง 3 มหาราช พร้อมถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียง สู่วิถีแห่งความยั่งยืน
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน การได้ค้นพบวิถีที่พอดีกับชีวิต ถือเป็นเส้นทางสู่ความสุขที่ทุกคนปรารถนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คืออีกแนวทางหนึ่งที่มุ่งสู่ความสุขยั่งยืน สามารถจับต้องได้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย และเป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยได้อย่างแท้จริง
เพื่อเป็นการถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของไทย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย จึงได้จัดโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 40 โดยได้นำคณะครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิต และการทำการเกษตรตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ “สวนของพ่อ” หรือ ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2521 ที่เล็งเห็นว่าการทำสวนผลไม้จะมีการขยายตัวมากขึ้นในอนาคต จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดิน จํานวน 109 ไร่ ในอําเภอมะขาม เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ในฤดูแล้ง และต่อมาได้มีพระราชดําริให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล เพื่อศึกษาและทดลองทางการเกษตร และเป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชน
โดยคณะฯ ได้เรียนรู้การทำสวนผลไม้เศรษฐกิจ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ด้วยเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้ลองชิมผลไม้สด ๆ จากต้น
ซึ่งมี ทุเรียนทรงปลูก พันธุ์พวงมณีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย พร้อมกับได้ศึกษาการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีแนวทางการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 แบ่งเป็น
· ส่วนที่ 1 ประมาณ 30% เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์น้ำ และพืชน้ำต่าง ๆ
· ส่วนที่ 2 ประมาณ 30% พื้นที่ปลูกข้าวเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับครอบครัวตลอดปี
· ส่วนที่ 3 ประมาณ 30% ปลูกผัก ปลูกไม้ผล เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
· ส่วนที่ 4 ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ
การดำเนินตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง มีผลผลิตหลากหลายสำหรับการจำหน่ายสร้างรายได้หากเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ฟื้นตัวได้เร็วในกรณีเกิดวิกฤต
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดังมรดกอันล้ำค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้แก่ปวงชนชาวไทยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยทรงให้เดินบนเส้นทางสายกลางอย่างรอบคอบและมีสติ รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ประมาทตามกระแสบริโภคนิยม ใช้ชีวิตด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยหลักแห่งความพอเพียงนี้ แท้จริงแล้วเป็นหลักการที่ครอบคลุมทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคลทุกสาขาอาชีพ ครอบครัว ชุมชน รวมไปถึงการบริหารองค์กร และนโยบายของประเทศ
โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อบรรลุความเป็น “เศรษฐีอย่างยั่งยืน” ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคมที่ดี และมีความสุขโดยถ้วนหน้า”
จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางไปยังกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน จังหวัดจันทบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ โดยเหตุการณ์แรก คือ วีรกรรมอันกล้าหาญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310
โดยคณะฯ ได้ทำการสักการะบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ จุดที่ทรงตั้งค่าย และทำการปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยยุทธวิธี “ทุบหม้อข้าว” ก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรีจนได้รับชัยชนะ และอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” หรือความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนำไปสู่การที่ไทยต้องจำยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เป็นการยอมเสียประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และเป็นที่มาของการปรับปรุงทั้งองค์วัตถุและบุคลากรด้านการทหารครั้งใหญ่ เพื่อให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยประเทศ
โดยคณะฯ ได้ร่วมกันรำลึกถึงวีรกรรมของในหลวงรัชกาลที่ 5 และเหล่าบรรพชนไทย ที่ได้นำพาชาติไทยให้พ้นภัยจากลัทธิอาณานิคม พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากร และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ จังหวัดจันทบุรี (ค่ายตากสิน)