S L B news : งานเปิดตัว “กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ฉบับภาษาไทย” โดยเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย
กรุงเทพมหานคร 10 มิถุนายน 2567 – เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย (Thailand Safe School Network: TSSN)[1] ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับประเทศ ในการผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 มีความภูมิใจอย่างยิ่งในการจัดงานเปิดตัว “กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ฉบับภาษาไทย”
โดยกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการปรับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาในบริบทของประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลจากความความร่วมมือระหว่างองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น (Prudence Foundation) และ Save the Children Thailand (มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองพลเรือนของคณะกรรมาธิกายุโรป(ECHO)
งานเปิดตัวครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ห้องราชา 2 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ทั้งนี้ กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ. 2565 – 2573 เริ่มพัฒนาจากความพยายามผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ผ่านการนำของ Asia Coalition for School Safety (APCSS) และได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2555 ตั้งแต่นั้นมา หน่วยงานด้านการศึกษาในกว่า 60 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาคทั้งในเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา และแคริบเบียน ได้นำกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับดังกล่าวไปปรับใช้
นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อุบัติเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและนักเรียนในหลายพื้นที่ หน่วยงาน Global Alliance for Disaster Risk Reduction and Resilience in the Education Sector (GADRRRES) จึงได้ดำเนินการปรับปรุงกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา (Comprehensive Schools Safety Framework: CSSF) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานด้านการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านการศึกษา ส่งผลให้กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ฉบับแก้ไข เสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565
ต่อมาได้มีการเปิดตัวเอกสารดังกล่าวอย่างเป็นทางการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้แก่ รัฐบาล หน่วยงานด้านการพัฒนา หน่วยงานด้านการศึกษา เจ้าหน้าด้านการศึกษา และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ได้นำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์แก่ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานในประเด็นนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และต่อเนื่องสำหรับทุกคน กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับนี้ ใช้แนวทาง “ความเสี่ยงและภัยพิบัติทุกรูปแบบ”
ซึ่งมุ่งเน้นการจัดการภัยในหลากหลายรูปแบบ และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบงานระดับโลกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก ภายในเนื้อหาประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักการพื้นฐาน ซึ่งกล่าวถึงระบบและนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดความปลอดภัยในสถานศึกษา และเสาหลักทั้ง 3 ประกอบไปด้วย เสาหลักที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เสาหลักที่ 2 การบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษาและความต่อเนื่องทางการศึกษา และเสาหลักที่ 3 การศึกษาการลดความเสี่ยงและการรู้รับปรับตัว
เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วยหน่วยงาน 6 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) Save the Children Thailand และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 เสร็จสิ้นแล้วและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนไทยต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับความปลอดภัยของสถานศึกษาทั่วประเทศไทย
[1] สมาชิกเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560: ศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์วิจัยการส่งเสริมความปลอดภัยของเด็กและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย IFRC CCST BKKสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย (TRC) มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย สภากาชาดไทย องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ อาสาสมัครสหประชาชาติ ประเทศไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย