เมื่อ : 13 มิ.ย. 2567

 

 กรุงเทพฯ 13 มิถุนายน 2567มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) มหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย จับมือ GalaxySpace บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาดาวเทียมระบบสื่อสาร บรอดแบนด์วงโคจรต่ำชั้นนำของโลก จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันพัฒนาและทดสอบสมรรถนะระบบเครือข่ายการสื่อสารบรอดแบนด์แบบบูรณาการ 

 

ทั้งส่วนดาวเทียมสื่อสารวงโคจรระดับต่ำ และสถานีดาวเทียมภาคพื้น ภายใต้ชื่อ “Mini-Spider” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นที่ใช้ความถี่สูงย่าน Q/V ในมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยีด้านดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ (Low-Earth Orbit หรือ LEO) ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ MUT ในฐานะผู้นำด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งมหาวิทยาลัยและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์และบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีอวกาศ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) ในภูมิภาคอาเซียน

 

 

 

 

ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ GalaxySpace ได้นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ทั้งส่วนสถานีเชื่อมโยงสัญญาณ (gateway) สำหรับผู้ให้บริการ ซึ่งมีติดตั้งอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่ ม. เทคโนโลยีมหานคร และส่วนสถานีลูกข่าย (user terminal) 

 

สำหรับผู้ใช้บริการ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่และติดตั้งบนยานพาหนะ ทางด้าน MUT ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ และสร้างสถานีดาวเทียมภาคพื้น พร้อมระดมทีมนักวิจัย คณาจารย์ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำนี้ รวมถึงทำการทดลองและทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน ร่วมกับทีมวิศวกรจากทาง GalaxySpace 

 

ซึ่งหลังจากทำการทดลองใช้งานครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้จริง และสามารถนำอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบการไทย ไปทดลองใช้งานผ่านกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำได้เป็นครั้งแรกในโลก

 

 

 

 

รศ. ดร.ภานวีย์  โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า “ผมเห็นศักยภาพในหลาย ๆ ด้านของประเทศไทย และเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ด้วยบริการด้านอวกาศที่มีความหลากหลายโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีอวกาศไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม 

 

MUT เรามีความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งมหาวิทยาลัย ดาวเทียม ‘ไทพัฒ’ เป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดยคนไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยเรา และเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ ของดาวเทียมขนาดเล็ก ตลอดจนระบบของสถานีภาคพื้น สู่ปลายน้ำ ที่เป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในงานต่าง ๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า MUT มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านทั้งเรื่องสถานที่ องค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมระดับแนวหน้าของประเทศ 

 

ความร่วมมือกับGalaxySpace ในการจัดตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นในมหาวิทยาลัยของเรา ถือเป็นโอกาสสำคัญของ MUT ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำกับบริษัทระดับแนวหน้าของโลก นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาและคณาจารย์ ได้หาประสบการณ์และเก็บเกี่ยวองค์ความรู้เชิงลึกด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และในอนาคต บุคลากรเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเติมเต็มความพร้อมด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผู้นำด้านเศรษฐกิจอวกาศและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอวกาศของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง”

 

 

 

 

มิส. อิซาเบล ฉางหลิว (Ms. Isabel Chang Liu) ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานบริษัท GalaxySpace กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้เติบโตได้ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ความร่วมมือระหว่าง GalaxySpace และ MUT ในครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนาระบบเครือข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แบบบูรณาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีอวกาศของ MUT ช่วยยกระดับการเรียนการสอนและเพิ่มพูนทักษะให้กับนักศึกษาขึ้นไปอีกขั้น ผ่านการฝึกฝนและสร้างเสริมประสบการณ์จริง โดยทาง GalaxySpace ยินดีถ่ายทอดความรู้และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศไทยและช่วยประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และอีกหนึ่งความตั้งใจของเราคือ สามารถพัฒนานวัตกรรมทางดาวเทียมและการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมกับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่มีความเร็วและประสิทธิภาพสูง

 

 

 

 

ปัจจุบันมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่หลากหลาย อาทิ ดาวเทียมไทยคม 4 (THAICOM-4) หรือ ไอพีสตาร์ (IPSTAR) เป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าหรือวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit : GEO) ที่มีระดับความสูงจากพื้นโลกโดยประมาณ 35786 กิโลเมตร

 

ด้วยขีดจำกัดด้านระยะห่างจากพื้นโลกของดาวเทียมแบบ GEO จึงมีการพัฒนาระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแบบวงโคจรต่ำ (Low Earth orbit) หรือ LEO Satellite ซึ่งห่างจากโลกเพียง 500 - 2000 กิโลเมตร ซึ่งมีผู้ให้บริการดาวเทียมรายใหญ่หลายแห่งที่อยู่ต่างประเทศ ได้แก่ Starlink OneWeb เป็นต้น แต่ยังไม่มีสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยได้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สำนักงาน กสทช. ต้องออกกฎระเบียบให้รัดกุม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัย ทดลองและทดสอบเทคโนโลยีก่อนการใช้งานเชิงพาณิชย์เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาช่วยในการออกกฎระเบียบที่เหมาะสม

 

 

 

 

 

GalaxySpace ตอบโจทย์อินเทอร์เน็ตดาวเทียมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โครงการพัฒนาและทดลองทดสอบระบบ ‘Mini-Spider’ ของ GalaxySpace ที่ร่วมกับ MUT นี้ประกอบไปด้วย

1) ส่วนสถานีดาวเทียมภาคพื้น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า สถานีเชื่อมโยง ระบบนี้จะนำอินเทอร์เน็ตภาคพื้น หรือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ขึ้นสู่กลุ่มดาวเทียมบรอดแบนด์ และ ส่วนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์เรียกว่า สถานีลูกข่าย ที่ผู้ใช้งานสามารถนำโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อได้โดยตรงทั้งแบบใช้สาย (LAN) หรือแบบไร้สาย (WIFI)

2) ส่วนอวกาศหรือดาวเทียมสื่อสารบรอดแบนด์ เป็นกลุ่มดาวเทียมที่จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำ จะทำหน้าที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างฝั่งสถานีเชื่อมโยงและสถานีลูกข่าย โดยจะมีแผนปล่อยดาวเทียมหลายร้อยดวง ให้กระจายตัวครอบคลุมทั่วโลกสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ ระบบ Mini-Spider จึงเป็นเหมือนอุปกรณ์นำอินเทอร์เน็ตจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องเดินสายสัญญาณ เพียงแค่มีพื้นที่เปิดโล่งเห็นท้องฟ้าและมีระบบจ่ายไฟฟ้า (ไฟบ้าน) ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย

 

 

เทคโนโลยีด้านดาวเทียมของ GalaxySpace เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน Q/V ที่เป็นคลื่นความถี่สูง ที่มีแนวโน้มจะใช้งานมากขึ้นในอนาคตและเป็นคลื่นความถี่ที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อนในประเทศไทย ซึ่งต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหรือรบกวนระบบที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือจาก

 

สำนักงาน กสทช. ที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม การใช้คลื่นความถี่ การนำเข้าอุปกรณ์วิทยุคมนาคม รวมถึงการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่ Sandbox เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในกรุงเทพมหานคร และระยะเวลา 1 ปี สำหรับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ชัยนาท นครนายก ระยองและภูเก็ต ทำให้โครงการศึกษาวิจัย ทดลองและทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยีดาวเทียมที่ MUT ร่วมกับ GalaxySpace สามารถดำเนินการตามแผนวิจัยที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี

 

รศ. ดร.ภานวีย์ กล่าวเสริมว่า “ดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำจะอยู่ที่ระดับความสูงไม่เกิน 2000 km ขณะที่ดาวเทียมของ GalaxySpace อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 500 km ทำให้ระยะทางระหว่างพื้นโลกไปยังดาวเทียมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับดาวเทียมในวงโคจรอื่นๆ 

 

จากการทดสอบเบื้องต้นของระบบ Mini-Spider เราได้ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุดประมาณ 250 Mbps[1] อัพโหลดสูงสุดประมาณ 210 Mbps และมี Latency[2] น้อยสุดประมาณ 32 ms เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การสื่อสารอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ GalaxySpace จะมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ที่ใช้เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย[3] ที่มีความเร็วดาวน์โหลดสูงสุดประมาณ 175 Mbps อัพโหลดสูงสุดประมาณ 23 Mbps และ Latency ประมาณ 28-34 msเห็นได้ว่า ระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ GalaxySapce สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีความเร็วสูงและมีการตอบสนองต่อการรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการสื่อสารและข้อมูลที่สะดวกสบาย เสมือนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ในเขตเมือง”