เมื่อ : 20 ก.ค. 2567

 

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า

“มาตรการกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น”

อุตสาหกรรมที่คาดหวังว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้ดีในปี 2567

“อุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม และอาหารและเครื่องดื่ม

และอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป”

 

นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน  เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสที่สามปี 2567 ระหว่างวันที่  20 ถึง 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้ให้ข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ ประกอบด้วย สาม กลุ่ม คือ (1) ประธาน คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และกรรมการหอการค้าไทยจีน (2) ประธาน และกรรมการสมาชิกสมาคมต่าง ๆ ของสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และ (3) กลุ่มนักธุรกิจ  รุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน เป็นจำนวนทั้งหมด 431 คน

 

 

 

 

ในภาพรวมการสำรวจครั้งนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและจีน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และความพร้อมของเศรษฐกิจไทยที่จะรองรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

 

กลุ่มหอการค้าไทยจีน กลุ่มสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามทางการค้า เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการทหาร และปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก และ ในภาพรวม มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจทั้งหมด มีความกังวลที่สุดจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

 

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และทำให้ผู้ประกอบการในจีนมีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก ทางออกหนึ่งคือ การส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกในราคาที่ถูกกว่าปกติ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าครัวเรือน จากที่ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 35.1 และ 27.6 มีความกังวลมาก และมีความกังวลบ้างตามลำดับ ของการที่สินค้าจีนจะเข้ามาตีตลาดไทย 

 

 

 

 

ในขณะที่ปัญหาการกีดกันทางการค้าและสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ผู้ให้ข้อมูลจำนวนร้อยละ 52.1 คาดการณ์ว่าธุรกิจของจีนจะมาค้าขายและย้ายฐานการผลิตกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมาก ขณะที่ร้อยละ 28.1 ลงความเห็นว่า ธุรกิจของจีนจะมาค้าขายและย้ายฐานการผลิตกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากที่สุด หากพิจารณา ความเห็นถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ร้อยละ 33.9 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจ มีความเห็นว่าควรลดการลงทุนในทุกๆตลาดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ขณะที่  ร้อยละ  33.4 มีความเห็นว่าอาเซียนน่าลงทุนมากที่สุด เมื่อเทียบกับจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้พอจะสรุปเป็นสังเขปได้ว่า บทบาทของจีนในอาเซียนน่าจะมีมากขึ้น และอาเซียนยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าลงทุนอยู่

 

 

 

 

จากข้อคิดเห็นที่ว่าจีนให้ความสนใจลงทุนในอาเซียนนั้น และหากจีนจะขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทยแล้วนั้น ไทยต้องมีความพร้อมทางด้านใด ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจทั้งสามกลุ่มมีความเห็นตรงกัน ในความพร้อม สอง ประเด็น คือ (1) สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ และ (2) กฎหมายที่อำนวยความสะดวกและโปร่งใส มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีอัตราการคอรับชั่นต่ำ และมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมาวางฐานธุรกิจ และการลงทุนในประเทศไทย คำตอบที่เป็นลำดับรองลงมาคือ (3) ไทยต้องรักษาบทบาทความเป็นกลางเพื่อความสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา และ (4) การมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้าและน้ำ และมีแรงงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ในระยะเวลาห้าเดือนแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากราคาของพลังงาน อาหารสดและสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ค่าเดินทางและค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 47.9 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจ คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจนถึงสิ้นปี จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเล็กน้อย แต่ร้อยละ 44.1 ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากปัญหาของเงินเฟ้อแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2567 มีกิจการที่ปิดตัวลงไปแล้วเกือบ 2000 แห่ง และมีผลกระทบต่อจำนวนแรงงานมากกว่า 40000 ตำแหน่ง โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง กล่าวคือ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม การพิมพ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า เกษตรขั้นพื้นฐาน และยางพารา ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจมีความเห็นสอดคล้องกันว่า คือ (1) อุตสาหกรรมภาคบริการ ที่ประกอบด้วย การท่องเที่ยว โรงแรม และอาหารและเครื่องดื่ม  และ (2) อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป ยังที่สามารถเติบโตต่อไปได้ดีในปี 2567

 

ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยที่ได้มีการจัดเรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ มาตรการกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ถูกเลือกมาเป็นอันดับแรกสุด ซึ่งมีอีกสี่มาตรการที่ให้ความสำคัญในระดับรองลงมา โดยทั้งสี่มาตรการที่มีน้ำหนักความสำคัญใกล้เคียงกัน กล่าวคือ (1) การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ทันสมัย และหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออก (2) เร่งลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และสนับสนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง (3) เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ และ (4) เร่งฟื้นฟูภาคการเกษตรพร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม

        

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ