S L B news : ต้อนรับหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT หลังคว้าแชมป์โลก World Robocup Rescue 2024 สมัยที่ 10
ศ.ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอราฟ โรบอท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัย World Robocup Rescue 2024 โดยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 10 และอีก 2 รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก คือรางวัล Best in class mobility (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยมระดับโลก) และรางวัล Best in class Dexterity (รางวัลสมรรถนะการทำงานแขนกลยอดเยี่ยมระดับโลก) ระหว่างวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์
ท่ามกลางการต้อนรับแสดงความยินดีและชื่นชมในความสามารถของนักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จากคณะผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกชมรมหุ่นยนต์ ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot ได้สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ มจพ. ด้วยการคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นสมัยที่ 10
มจพ. จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยถึง 10 สมัย ตัวเต็งยืนหนึ่งโชว์ศักยภาพหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมระดับโลก นับได้ว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านฝีมือ และพลังทีมเวิร์คของนักศึกษาทีมแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย โดยมีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมการแข่งขัน 20 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก โดยแต่ละรอบของการแข่งขันทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ทำคะแนนรวมได้ดีเยี่ยมจากทุกสนามเป็นอันดับที่ 1
เมื่อหุ่นยนต์ iRAP Robot ปรากฏตัวขึ้นในสนาม “ย่อมเป็นตัวเต็งในการแข่งขันครั้งนี้ สามารถสะกดสายตาทีมอื่น ๆ ด้วยศักดิ์ศรีที่เป็นแชมป์โลกหลายสมัย กอปรด้วยทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ได้พัฒนาศักยภาพ สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมและประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ใช้งานได้จริงบนเวทีระดับโลก เป็นอีกเหตุผลที่ช่วยทีมเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) แบบ 100% นั่นเอง” เติมเต็มทุกกระบวนการในการสร้างหุ่นยนต์ให้ตรงความต้องการของโจทย์และกติกาการแข่งขันในเวทีระดับโลกอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดและให้ความสำคัญเทคโนโลยีทุกด้าน รวมถึงการสร้างหุ่นยนต์ให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในเวทีอื่น ๆ ต่อไป
จุดเด่นที่ทำให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยคว้าแชมป์โลกในครั้งมีอยู่ 2 องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสมรรถนะหุ่นยนต์สุดยอดเหนือชั้นจากทีมทั่วโลกประเทศอื่น ๆ ได้แก่
1. Mobility หรือด้านการขับเคลื่อน หุ่นยนต์ของเราสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวางอย่างเช่น หิน ทราย หรือบล๊อกไม้ซึ่งเป็นการจำลองการเกิดอุบัติภัย อาคารถล่ม
2. Dexterity หรือด้านการใช้แขนกล หุ่นยนต์สามารถใช้แขนกลในการหยิบจับสิ่งกีดขวางหรือวัตถุในพื้นที่ประสบภัย หรือการเปิดประตูอาคาร
การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดของฮาร์ดแวร์ ส่วนโครงสร้าง และการออกแบบ ถูกออกแบบและสร้างด้วยฝีมือเด็กไทย มีเพียงชิปประมวลผล (Processing chip) ที่ยังต้องอาศัยจากต่างประเทศเนื่องจากประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดก็ถูกออกแบบและสร้างขึ้นจากฝีมือนักศึกษาและอาจารย์ในทีมทั้งหมดไม่ได้ใช้ของจากต่างประเทศ เสริมให้สมรรถนะของหุ่นยนต์ iRAP Robot สามารถทำคะแนนรวมจากทุกสนามเป็นคะแนน 1612 % เข้าสู่รอบก่อนชิงชนะเลิศ (Semi-Final) เป็นอันดับที่ 1 ซึ่งทำให้บรรยากาศการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น สร้างความกดดันให้กับทุกทีม จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2024” และเมื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. จากประเทศไทยโดยการคว้าแชมป์โลกได้นั้น สามารถได้คะแนนสูงสุด 1076 คะแนน ส่วนรองแชมป์โลกอันดับ 2 ทีม Shinobi ประเทศญี่ปุ่น ได้ 921 คะแนน และรองแชมป์โลกอันดับ 3 ทีม Alert ประเทศเยอรมัน ได้ 825 คะแนน นับได้ว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการทำงานเป็นทีมและมีเป้าหมายร่วมกัน
หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 10 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอีกครั้งบนเวทีระดับโลก และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า มจพ. เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์ที่นานาชาติรู้จักฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงเยาวชนไทยเป็นอย่างดี เป็นการตอกย้ำความเป็นที่สุดของแชมป์โลกแบบครบเครื่องในระยะเวลาถึง 18 ปี ตั้งแต่แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue สมัยที่ 1 ของ มจพ.ในปี 2549 ณ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมัน ล่าสุด แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 10 ของ มจพ. ปี 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์
ขวัญฤทัย ข่าว