เมื่อ : 28 ส.ค. 2567

 

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง ”Data-Driven Nation: บูรณาการข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย โดย 

 

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านระบบการบริหารและจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการเสวนาเรื่อง ”ความท้าทายและโอกาสในการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระบบใหญ่ของประเทศ” Data-Driven Governance : พลิกโฉมการบริหารภาครัฐด้วยข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย หัวข้อบทเรียนจากต่างประเทศและแนวทางสำหรับประเทศไทย โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) 

 

 

 

หัวข้อ Big Data & Al: เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน Data-Driven Nation และประเทศไทย โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หัวข้อกุญแจสำคัญสู่การเป็น Data-Driven Nation และการพัฒนาประเทศไทย โดย นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) และ

 

หัวข้อ Data-Driven Nation : ปลดล็อกศักยภาพข้อมูล ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคใหม่ โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ (กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม) 

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ดำเนินการเสวนาโดย ดร.สุรเชษฐ์ สุชัยยะ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

 

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านระบบการบริหารและจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการรวบรวมและบูรณาการข้อมูลในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ 

 

ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องมีการประสานงานและทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัย ยังเป็นความท้าทายในการรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลในระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือและความเข้มงวดในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความเป็น Data-Driven Nation อย่างเต็มรูปแบบ

 

 

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้กล่าวในงาน ”Data-Driven Nation” ว่า ความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานข้อมูลเพื่อการแชร์และการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ขอเน้นว่าการมีมาตรฐานข้อมูลที่ชัดเจนจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และช่วยให้สามารถแข่งขันและลดต้นทุนได้ 

 

ตลอดจนความสำคัญของการพัฒนาทักษะของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มทักษะ (upskill) ให้กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น การแพทย์ โดยใช้ AI และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนความจำเป็นในการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนา 

 

ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการสร้างแรงจูงใจ (incentive) ให้กับเอกชน เช่น การลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการเข้าร่วมในโครงการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ และความสำคัญของการประเมินคุณภาพของข้อมูล (Data Quality) โดยให้มีการจัดเรทติ้งข้อมูลเหมือนกับการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพของข้อมูลได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว

 

 

 

นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ได้กล่าวถึงกุญแจสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเป็น Data-Driven Nation ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นจากมุมมองของประชาชน (Citizen Centric) แทนที่จะเป็นมุมมองของผู้พัฒนา (Product Oriented)

 

ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นที่ความต้องการและความจำเป็นของประชาชนและประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างแดชบอร์ดที่สามารถสะท้อนศักยภาพของประเทศได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น ระบบการจัดการข้อมูล การรักษาความปลอดภัย (Cyber Security) และการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Digital Identity) 

 

เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ Cloud Computing จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัยในการจัดการข้อมูล ขอเน้นถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานกลาง (Interoperability) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้กล่าวว่า ”Big Data” และ ”AI” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น Data-Driven Nation แต่เน้นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ในด้านเทคโนโลยี 

 

เนื่องจากยังคงพึ่งพาเครื่องมือต่างชาติ ทำให้ไม่สามารถขยับตำแหน่งทางเทคโนโลยีในระดับโลกได้ ตลอดจนเทคโนโลยีและการพัฒนาคนหรือ Human Capital มีความสำคัญอย่างมาก แต่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้จำนวนคนในวัยทำงานลดลง ซึ่งจะสร้างภาระให้กับเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต 

 

นอกจากนี้ การเรียนรู้และความรู้ในด้านเทคโนโลยียังไม่เพียงพอ ทำให้การเข้าสู่สายอาชีพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีลดลง ในส่วนของความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) ที่ยังมีข้อจำกัดในหลายประการ เช่น ความมั่นใจในเรื่องของกฎหมายและความปลอดภัยของข้อมูล อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอย่าง Data Anonymization สามารถเข้ามาช่วยในกระบวนการนี้ได้ 

 

นอกจากนี้การใช้ AI ในการตรวจจับพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ขอเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับการสร้าง Data และ AI ในยุคหน้า และเรียกร้องให้ประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ถูกล้ำหน้าจากประเทศอื่น ๆ

 

 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ความท้าทายด้าน Cyber Security ในประเทศไทยยังมีปัญหาในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากขาดการตระหนักรู้และการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง มักจะเกิดการตระหนกเมื่อมีข่าวการแฮกหรือการรั่วไหลของข้อมูล แต่ขาดการตระหนักถึงความสำคัญในระยะยาว 

 

ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ในด้านการใช้ CCTV ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม ผู้คนมักให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากกว่าความปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบ Cloud ที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม 

 

ขอย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ISO 27001 และ ISO 27017 ที่ควรนำมาใช้ในการเลือกผู้ให้บริการ Cloud และการจัดการข้อมูล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ความสำคัญของการมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ซึ่งยังมีจำนวนที่น้อยในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดโอกาสในการพัฒนาตนเองและตลาดงานในสาขานี้ 

 

การส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ยังมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลา รวมถึงความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด การบูรณาการข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้พลังงานและงบประมาณ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส 

 

อย่างไรก็ตาม การนำระบบบิ๊กดาต้ามาใช้งานยังคงต้องการการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลให้มีความแม่นยำ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาและปกป้องระบบข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ