เมื่อ : 09 พ.ย. 2567

 

ร่วมหารือวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อสร้างชีวิตเมืองให้ดีขึ้นใน ”ประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2567  
ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเกือบ 700 ล้านคน ตามประมาณของสหประชาชาติ ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2567 และกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง “เมื่อพื้นที่ในเมืองโตขึ้น ความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน” ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่ปัญหาเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหนาแน่นของประชากรเมืองที่ส่งผลไปยังสภาพเศรษฐกิจและสังคม การสูญเสียอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปจนถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์  
 

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานเปิดงานกล่าวว่า “การศึกษาในรูปแบบปัจจุบันอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เราจะต้องทำให้ทุกพื้นที่ของเมืองคือแหล่งเรียนรู้ ทำให้เมือง เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่ผู้คน ทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงความรู้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ (Lifelong Learning) 

 

ซึ่งเรื่องนี้ได้อยู่ในนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลด้วย โดยกระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก และได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เรื่องของระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เรื่องของการทำให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์ได้ แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอ ผมคิดว่าถ้าอยากจะให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบนิเวศมีความสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีความตระหนักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลที่คาดว่าจะได้ใน

 

การประชุมครั้งนี้ คือตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติที่สร้างสรรค์และยั่งยืนในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในเมือง และการจัิดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันระหว่างเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน”
 

 

 

 

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจ การรู้ทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อตั้งรับ ปรับตัวให้อยู่รอด และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นที่มาของการเรียนรู้ เมื่อสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระบวนการเรียนรู้ก็ควรจะเกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน “การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้พลเมืองสามารถรับมือกับความผันผวนของศตวรรษที่ 21 ได้” ดร.กิตติ กล่าว 
 

“การประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคณะผู้แทนจาก 12 ประเทศสมาชิกอาเซียน บวกสาม ประกอบด้วย ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วม 

 

 

 

 

โดยมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ในการสร้าง “เมืองแห่งการเรียนรู้” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และมีพลังในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
 

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  กล่าวต่อว่า “การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศที่ บพท. นำมากำหนดเป็นกรอบการดำเนินงาน “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” และเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้เมืองต่าง ๆ สามารถยกระดับเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกตามแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities - GNLC) เกิดกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ ที่เกิดจากนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง เกิดนิเวศการเรียนรู้ของเมือง ที่ประกอบด้วย พื้นที่การเรียนรู้ ตัวความรู้ และกิจกรรม การเรียนรู้ ที่นำไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ของเมือง จนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนในพื้นที่ และประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
 

นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวยกย่องถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า “ในประเทศทั่วโลกมีเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกรวม 356 เมืองใน 79 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก 19 เมือง ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี มีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก 70 เครือข่าย 

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก 10 แห่งทั่วประเทศ เมืองแห่งการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของยูเนสโกแห่งใหม่ซึ่งได้รับการประกาศเกียรติคุณในที่ประชุมครั้งนี้ ได้แก่ หนานจิง (จีน) เลกัซปี (ฟิลิปปินส์) กรุงเทพฯ ขอนแก่น และยะลา (ประเทศไทย) และโฮจิมินห์ซิตี้ และเซินลา (เวียดนาม) ซึ่งความมุ่งมั่นที่น่าชื่นชมของเมืองเหล่านี้ที่ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจริงขึ้นมาได้สำหรับประชากรเมืองทุกคน” และกล่าวเพิ่มเติมว่าเมืองเหล่านี้กำลัง ”สร้างหนทางสู่ความรู้ที่การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสวนสาธารณะ ตามถนนหนทาง และที่บ้านได้ด้วย”
 

นายวัลเดซ-โคเทรา สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโกและผู้ประสานงานเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของยูเนสโกกล่าวย้ำว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การปลดล็อกให้เกิดศักยภาพของเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

 

 

 

ซึ่งปัจจุบันมีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของภูมิภาคที่อาศัยอยู่ในเมือง” ครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการ ”ประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม”ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยมีแนวปฏิบัติที่ดีและมีประสบการณ์ที่หลากหลายในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

 

สามารถเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา การฝึกอบรม และวัฒนธรรม สร้างความมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ประชาชนสามารถนำการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและกำหนดแนวทางการเรียนรู้ของตนเองได้ 
 

นายวัลเดซ-โคเทรา ยังกล่าวอีกว่า ““การเรียนรู้” คือ เครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกระทรวง อว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาประเทศ หากเราสามารถทำให้ทุกพื้นที่ของเมืองคือแหล่งเรียนรู้ ทำให้เมือง เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่ผู้คน ทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงความรู้ และสามารถใช้ประโยชน์นั้น ทั้งเพื่อตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้แล้ว 

 

การยกระดับการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้” ผลที่คาดว่าจะได้ในการประชุมครั้งนี้ คือตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติที่สร้างสรรค์และยั่งยืนในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในเมือง และการจัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันระหว่างเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
 

 

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “ข้อสรุปที่ได้จากการแลกเปลี่ยนจากการประชุมจะเป็นข้อมูลที่ สกสว.นำไปใช้ในการปรับปรุงแผนวิจัย ให้มีความชัดเจน เข้มข้น ทั้งในแง่ของเนื้อหาและกระบวนการ ซึ่งจะทำให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง 

 

โดยเฉพาะการสร้าง “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่นอกจากจะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาของประเทศไทยเองแล้ว ยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งความสำเร็จในการเชื่อมโยงแผนวิจัยกับกิจกรรมการดำเนินงาน และการผลักดันให้เกิดผลตามเป้าหมายการพัฒนานั้น ถือเป็นบทบาทและภารกิจของ สกสว. ที่ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย”
 

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานภูมิภาคยูเนสโกในกรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัด “การประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม” ระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2567 ในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายในภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและเร่งให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของวาระการศึกษาปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ และ SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ