วช. มอบนวัตกรรมเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับให้โรงพยาบาลพุทธโสธร
วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นตัวแทนร่วมพิธีลงนามบันทึกการส่งมอบนวัตกรรมเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา และโรงพยาบาลพุทธโสธร และมอบเตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ จำนวน 2 เตียง ให้แก่โรงพยาบาลพุทธโสธร งานจัดขึ้น ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากโครงการ “Thailand New Gen Inventors Award” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า I-New Gen Award ซึ่งเป็นโครงการประกวดผลงาน สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของผู้ประดิษฐ์ รวมถึงคุณภาพของผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในโครงการดังกล่าวระดับอาชีวศึกษา จึงเกิดแนวคิดการสนับสนุนทุนให้แก่ผู้ประดิษฐ์ โดยร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา จึงได้ก่อเกิดโครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ หรือ
Co-funding โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการนำสิ่งประดิษฐ์ของนักประดิษฐ์ในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาสู่การขยายผลหรือพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมชุมชน หรือเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสาธารณะได้ตรงจุด โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการให้ทุนไปแล้วกว่า 140 ผลงานจาก 54 วิทยาลัย ทั้ง 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้วยเช่นกัน
สำหรับโครงการเรื่อง “เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ” ของ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ซึ่งมี อาจารย์นิวัตร ศรีคำสุข เป็นหัวหน้าโครงการนั้น ถือเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยรักษาผู้ป่วยที่ประสบปัญหาการไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือตัวเองได้ แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษา วิจัย และพัฒนาออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นำไปใช้ประโยชน์แก่สาธารณชน แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. (อาจจะเปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง) เปิดเผยว่า โครงการเตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลจากการประกวด I-New Gen Award 2021 ระดับเหรียญทอง ในด้านสุขภาพและการแพทย์ ทาง วช. ได้ต่อยอดนวัตกรรมนี้โดยการสนับสนุนทุนภายใต้โครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ (Co-funding) ประจำปีงบประมาณ 2565 สำหรับคุณสมบัติของเตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ควบคุมการทำงานด้วยแผงวงจรโดยเขียนโปรแกรมลงในบอร์ด Auduino เพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์แบบเซอร์โวเพื่อให้เตียงหมุนไป หมุนกลับอย่างช้า ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ มีระบบการทำงาน 3 แบบคือ 1) แบบ Auto เป็นการทำงานตามเวลาตั้งไว้ โดยเมื่อกดปุ่มให้ระบบทำงานเบาะรองเตียงเลื่อนที่ขึ้น-ลง 10 นาที ต่อ 2 ชั่วโมง 2) แบบ Massage เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อกดปุ่มเบาะรองเตียงเลื่อนที่ขึ้น-ลงตลอดเวลา เมื่อกดปุ่มอีกครั้งเบาะรองเตียงก็จะหยุดทำงาน 3) แบบ Manual เป็นการทำงานตามที่ผู้ใช้กดปุ่มขึ้นและลงทีละจังหวะ เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าเป็นการพัฒนาต่อยอดจากผลงานเดิม โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยส่วนที่นอนให้ด้านบนเอนเป็นพนักกพิง เพื่อให้สะดวกกับการนั่งทานอาหาร ทานยาหรือเปลี่ยนอิริยาบถท่านั่งได้ และพัฒนาระบบ Applications ของโทรศัพท์มือถือเพื่อควบคุมการทำงานและติดตั้งกล้องวงจรปิดให้สามารถดูผู้ป่วยเป็นแบบ Real Time ผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือและสั่งการทำงานได้ด้วยพูดโต้ตอบผ่านระบบออนไลน์ได้ผ่านกล้องวงจรปิด คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรกตามข้อกำหนดการผลิตในมาตรฐานความปลอดภัยสากลเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์