เมื่อ : 07 ส.ค. 2565

ผู้ช่วยผบ.ตร.ประกาศ  “ Smart Safety Zone 4.0 ” เดินหน้าต่อตามเทรนด์โลก เน้นประชาชนมีส่วนร่วม  ตั้งเป้า ปี 66 ลงท้องถิ่นทั่วไทย 1,480 สถานีสถานีตำรวจ ชี้การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผนวกเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อทุกภาค     
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีเสวนา “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสวัสดิภาพสาธารณะ”  ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Smart Safety Zone 4.0 นวัตกรรมความปลอดภัย เพื่อการป้องกันอาชญากรรม” ตามด้วยเวทีเสวนาของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

ดร.ภาสกร ประถมบุตร  รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  พันตำรวจเอกกัมพล รัตนประทีป รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า  การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยุค New Normal ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตำรวจต้องทำงานเชิงรุก โดยปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ครอบครัวมีหนี้สินเพิ่ม เศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นหน้าที่ที่ตำรวจต้องปราบปราม แต่การทำงานเชิงรุกคือ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ จะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องเป็น “การป้องกัน นำการปราบปราม”  และที่ตอบโจทย์ที่สุดคือ  “โครงการ Smart Safety Zone 4.0”  ซึ่ง เป็นการป้องกันและประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในการติดตามจับคนร้าย Smart Safety Zone 4.0  จึงถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลานี้ 
 

ทั้งนี้ กระทรวงอว. โดย วช.สนับสนุนงบประมาณ 24.28 ล้านบาท เพื่อใช้ในการวิจัยในปี 2564 โดยเริ่มจากพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ก่อน และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำร่องสถานีตำรวจเข้าร่วม 15 สถานี มีองค์ประกอบรวมประชาชน ตำรวจ เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของประชาชน ติดตั้งกล้องเทคโนโลยีAI  กล้องตรวจจับใบหน้าเข้าไป และจากนั้น 1 เดือนจึงตรวจสอบว่า ประชาชนต้องการหรือไม่ โดยให้มหาวิทยาลัยจัดทำโพลล์สำรวจ พบว่า ประชาชนประมาณ 90% อยากให้ขยายไปทั่วประเทศและประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจในกล้องวงจรปิดมากที่สุด เพราะสามารถบันทึกภาพได้ ย้อนหลังได้ เมื่อประชาชนต้องการทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยผบ.ตร.จึงขยาย โครงการนี้ “หลังจากวช.เริ่มนับหนึ่งให้ โดยให้งบประมาณครั้งแรกกว่า 24 ล้านบาท ในปี 2566 นี้จะขยายไปทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนงบประมาณโดยให้อบจ.สนับสนุนทุกสถานีตำรวจในทุกจังหวัดที่เข้าร่วม “1 โครงการ 1 Smart Safety Zone 4.0” ประมาณ 20 ล้านบาท โดยมีผู้กำกับเป็นเจ้าภาพหลักประสานงานกับนายกอบจ. นายกเทศมนตรี ภาคเอกชนให้เข้าใจในการดำเนินการ” 
 

ผู้ช่วยผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ต่อจากนั้นต้องคัดเลือกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เศรษฐกิจ ย่านแลนด์มาร์ค พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสูง และพื้นที่ที่ประชาชนต้องการ และปรับปรุงทั้งทางกายภาพ และการใช้เทคโนโลยี   พร้อมย้ำว่า สิ่งสำคัญของโครงการนี้คือ ความต่อเนื่อง ซึ่งโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไปอีกหลายปีจากการมีงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอว. อบจ.และเทศบาล ความร่วมมือของประชาชน ขณะที่เทรนด์ของโลกในการป้องกันอาชญากรรมยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ  โดยยึดตัวชี้วัดคือ ความหวาดกลัวภัยของประชาชนในพื้นที่ และความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ 

 

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ