เมื่อ : 28 ต.ค. 2565


วันที่ 28 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา NRCT Talk เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย โดยมี นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

โดยในวันนี้มีผลงานที่ร่วมเสวนาบนเวที NRCT Talk เป็นผลงานที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่

 

ผลงานที่ 1 : การพัฒนาตำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ ยกระดับในการให้บริการให้ปลอดภัย และการพัฒนารูปแบบการจัดการแบบเดลิเวอรี่ โดย ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยคณะนักวิจัยได้พัฒนาสำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้คัดเลือกรายการอาหารจำนวน 17 รายการ ปรับตำรับเพื่อให้เป็นรายการอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ จัดทำสำรับอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพจำนวน 8 สำรับ โดยมีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสม ยกระดับในการให้บริการให้ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนารูปแบบการจัดการอาหารโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่ โดยใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ และสร้างต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่อย่างมีผลิตภาพสูง

 

ผลงานที่ 2 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพแนวใหม่จากสาหร่ายอาร์โรรสไปร่า พลาเท็นซิส โดย ดร.สราวุธ สัตยากวี แห่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการต่อยอดมาจากผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมซึ่งได้ทดสอบว่าโปรตีนไฮโดรไลเสท จากไฟโคไซยานินของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากความเครียดออกซิเดชันในระดับเซลล์จึงมีแนวคิดที่จะนำโปรตีนไฮโดรไลเสทที่พัฒนาขึ้นมาผลิตเป็นเครื่องดื่มฟื้นฟูร่างกายที่ทดสอบในระดับสัตว์ทดลองถึงการลดการสลายของกล้ามเนื้อ โดยการเสื่อมสลายของกล้ามเนื้อ เป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับคนทุกคนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว การเหนื่อยล้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและภูมิคุ้มกันลดลง ทั้งนี้ อัตราการสลายของกล้ามเนื้อขึ้นอยู่กับอายุ การออกกำลัง การเคลื่อนไหวในแต่ละวัน

 

ผลงานที่ 3 : ผลิตภัณฑ์สิ่งทอแปรรูปจากผ้าพื้นเมืองด้วยเทคนิคการม้วนเส้นยืนและการย้อมสีจากธรรมชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ และคณะ แห่งคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยเครื่องม้วนเส้นด้ายยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถช่วยลดปัญหาการใช้พื้นที่ในการม้วนเส้นด้ายยืน ซึ่งการม้วนแบบเดิม จะต้องใช้พื้นที่เท่ากับความยาวของเส้นยืน ซึ่งความยาวของเส้นด้ายยืนโดยเฉลี่ยจะยาว 15 - 25 เมตร ในขณะที่ใช้อุปกรณ์วนเส้นด้ายยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้พื้นที่ 4 - 5 เมตร การใช้เวลาในการม้วนลดจากเดิมถึง 2 เท่า ลดการใช้แรงงานจากเดิม 5 - 7 คน เมื่อเปรียบเทียบกับการม้วนเส้นไหมด้วยเครื่องที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จะใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้น

 

ผลงานที่ 4 : นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดย นายแพทย์ณัฐกร  จำปาทอง และคณะ แห่งกรมสุขภาพจิต เป็นการดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วน มีรูปแบบการป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย มีการเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชนเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคัดกรองและประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย รวมถึงผลการประเมินโครงการการฆ่าตัวตายระดับชาติ