เมื่อ : 04 เม.ย. 2568

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แผนปฏิบัติการ แผนงาน รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ภายใต้โครงการติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นโยบายและแผนดีอี) พร้อมด้วยนางอำไพ จิตรแจ่มใส รองเลขาธิการ และผู้บริหาร BDE เข้าร่วมงานในวันนี้ด้วย โดยมีนายธเนศ วิริยะจิตต์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการดีอี กล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

 

 

 

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการ BDE กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับทราบข้อมูล สถานะปัจจุบันของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย รวมทั้งกรอบแนวทางการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนผลกระทบและประโยชน์ของนโยบายและแผนดีอี รวมถึงข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

 

ซึ่งเป็นผลจากการรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Focus Group) ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่

 

จากการติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนดีอี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย 6 ตัวชี้วัด โดย BDE ได้ร่วมผลักดันให้ตัวชี้วัดเหล่านี้ประสบความสำเร็จแล้ว 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) อันดับการพัฒนาตามดัชนี ICT Development Index (IDI) อยู่ในประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 40 อันดับแรก ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยอยู่อันดับ 37 ดีขึ้น 2 อันดับ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2566 (2) 

 

ประชาชนทุกคน มีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ ซึ่งพบว่า ในปี พ.ศ. 2566 สถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) อยู่ในระดับดี โดยมีคะแนนอยู่ที่ 74.4 คะแนน และสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy: MIL) อยู่ในระดับดี มีคะแนนอยู่ที่ 72.1 คะแนน โดยผลการสำรวจดังกล่าว BDE จะดำเนินการเก็บข้อมูลทุกสองปี และ (3) อันดับการพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัลของดัชนี UN e-Government Rankings อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 50 อันดับแรก 

 

โดยในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุดเป็นอันดับที่ 18 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.1808 เมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ. 2561 โดยจัดเป็นอันดับที่ 52 จาก 193 ประเทศ มีคะแนนเพิ่มขึ้นและอันดับที่ดีขึ้น 21 อันดับเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 73 โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมาก (Very high EGDI group)

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ