จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ กสศ. ประกาศเจตนารมณ์ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ยกระดับกลไกพื้นที่
ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพ
จังหวัดสุรินทร์ จับมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ครอบคลุมทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา
โดยสานพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานทั้งในและนอกจังหวัด อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคม เอกชน ประชาชนคนทั้งจังหวัด ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมเชื่อมกลยุทธ์การทำงานเข้ากับโครงการต่าง ๆ ของ กสศ. เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบการบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งจะขยายผลไปสู่การทำงานขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ทุกคนต่างทราบดีว่าความยากจนเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมเสมอภาค เป็นประเด็นปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากประเทศของเรา แม้จะมีความพยายามในการทำงานเพื่อลดช่องว่างเหล่านี้ ทั้งนี้หากขุดลึกลงไปยังรากของความเหลื่อมล้ำหรือความยากจน จะพบว่า ‘ความรู้’ คือตัวแปรสำคัญ หมายถึงเราจะทำอย่างไรให้คนมีความรู้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ และนำความรู้มาประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้
การศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทำให้เราพบว่า มิติเรื่องสุขภาพหรือระดับการศึกษาในครอบครัว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงโอกาสได้ยากขึ้น เราพบครอบครัวที่มีคนมีปัญหาสุขภาพซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณในการดูแล รวมถึงครอบครัวของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสส่วนใหญ่ มักมีผู้ปกครองระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินชั้นประถมศึกษา โดยแม้จะมีกฎหมายระบุว่าเด็กต้องได้รับการศึกษาจนจบภาคบังคับ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวมากลับผลักให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ต้องทำงานก่อนวัยอันควร มีชีวิตวนเวียนอยู่เพียงเป็นแรงงานขาดทักษะ หรืออพยพย้ายถิ่นเพื่อหารายได้ไปเรื่อย ๆ และถ้ามีการสร้างครอบครัวใหม่ เด็ก ๆ ที่เกิดจากครอบเหล่านี้ ก็จะอยู่ในวงจรส่งผ่านความยากจนด้อยโอกาสจากคนรุ่นพ่อแม่ต่อไปไม่สิ้นสุด