เมื่อ : 29 ธ.ค. 2565

 

วันที่ 28 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา “การขับเคลื่อน เสริมสร้าง และพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ ผ่าน Video Conference และ พลเรือตรี สมเกียรติ  ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวขอบคุณ ซึ่งงานในวันนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมสู่การคลี่คลายปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดสันติสุข

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีนโยบายขับเคลื่อน เสริมสร้าง และพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ไปสู่เป้าหมาย “การกินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง วช. และ ศอ.บต. ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา วช.ได้ดำเนินการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 และ 2565 รวมจำนวนทั้งสิ้น 40 โครงการ โดยมีผลงานที่ดำเนินการถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์แล้วอาทิเช่น โครงการการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้นำศาสนามีบทบาทและมีส่วนในการแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด - 19 และโครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามหลักการอิสลาม เป็นต้น ดังนั้น การจัดกิจกรรม“การเสวนาการขับเคลื่อน เสริมสร้างและพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยและนวัตกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วช. และ ศอ.บต. รวมทั้งโครงการที่ วช. ให้ทุนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 30 โครงการ 

 

พลเรือตรี สมเกียรติ  ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า แผ่นดินใต้มีความอุดมสมบูรณ์ ติดอย่างเดียวคือสันติสุขได้หายไป จากความไม่เข้าใจจากความขัดแย้งทำให้ภาคใต้ แดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยควรจะมีการพัฒนา เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนจึงได้ระดมศักยภาพ ความสามารถและการบูรณาการ คลี่คลายปัญหาชายแดนภาคใต้และพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีอยู่ดี นั่นคือประการที่หนึ่ง พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีความกินดีอยู่ดีทั้งในมิติ ของเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคมและการพัฒนาคน หรือถ้าหากแยกย่อยในเรื่องการศึกษา สุขภาพอนามัย อาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ สิ่งเหล่านี้จะต้องเคลื่อนไปข้างหน้าทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง 5 เรื่องที่กล่าวมาอยู่ในกรอบเศรษฐกิจสังคม พัฒนาคน  และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะฉะนั้นนี่คือความเร่งด่วนแรกที่จะต้องใช้สรรพกำลัง ทุกภาคส่วน ระดมกันคลี่คลาย  พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความกินดีอยู่ดี ส่วนที่สองบรรยากาศที่จะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรมให้ได้ ส่วนที่สาม หาทางออกลดความรุนแรงและลดความขัดแย้งโดยสันติวิธี การขับเคลื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพใหญ่คือการเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา อย่างทุกมิติไปสู่ตลาดโลกนำพาแผ่นดินใต้ ไปสู่ความสงบและสันติสุข ลดความเหลื่อมล้ำทั้งปวง ยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคตข้างหน้า ศอ.บต. จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ ระหว่างนักวิจัยกับ วช.  ในการที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา พัฒนาและเชื่อมต่อไปยัง วช. และ กระทวง อว. พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความสันติสุขในภายภาคหน้า
 

 

ส่วนช่วงการเสวนาการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคประชาสังคม โดย ศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา นักวิจัยเชิงพื้นที่ด้านงานวิจัยพหุวัฒนธรรม นายพงศักดิ์ เพชรเกื้อ ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอิฐดินเผา โรงอิฐวิรัตน์ นางวันดี รัตนอนันต์ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุจังหวัดยะลา และรองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5 ผลงาน

ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมภาคนิทรรศการผลงานการวิจัยและนวัตกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยงาน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อีกด้วย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ