ฉบับที่ 16 /2566วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 กรมศุลกากร ยึดใบพืช “Khat” น้ำหนัก 5600 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 60 ล้านบาท
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566) เวลา 14.00 น. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวการตรวจยึดใบพืช “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) นำเข้าจากต่างประเทศ น้ำหนัก 5600 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 60 ล้านบาท ณ กรมศุลกากร คลองเตย
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย และสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ด้านกระทรวงการคลัง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดและเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรทุกเส้นทาง กรมศุลกากรจึงเพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมามีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและออกนอกราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง
สำหรับวันนี้ (วันที่ 9 มกราคม 2566) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พบใบขนสินค้าขาเข้าสำแดง
รายการที่ 1 ผงใบมะรุม (MORINGA LEAVES) ประเทศกำเนิด KENYA ปริมาณ 420.000 CT น้ำหนัก 5600.000 KGM ในฐานะพรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ (รวมถึงเมล็ดและผล) อื่น ๆ ตัด บด หรือทำเป็นผง
เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบสินค้าพบ ลักษณะทางกายภาพเป็นใบพืชแห้งแยกบรรจุถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสีเงินและพลาสติกใส บรรจุในลังกระดาษสีน้ำตาล ที่ถุงบรรจุภัณฑ์ติดฉลาก ทั้งสองด้าน ฉลากด้านหน้า เขียนระบุ MORINGA DRY TEA LEAF และฉลากด้านหลังมุมขวาด้านล่าง มีการเขียนระบุชื่อผู้ผลิต และมีการแสดงข้อความตัวอักษรหนาในกรอบสี่เหลี่ยมว่า Product of Thailand ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสินค้าผลิตในประเทศไทย เมื่อตรวจสอบเอกสารใบรับรอง Phytosanitary Certificate ที่ผู้นำเข้านำมาแสดงขณะนำเข้าระบุชื่อพืชพฤกษศาสตร์เป็น “CATHA EDULIS” ซึ่งไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าเป็นชนิดใด จึงชักตัวอย่างสินค้าส่งสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด รายงานผลตรวจพบสินค้าเป็น “ใบพืช Khat” ประกอบด้วยสารคาทิโนนและสารคาทีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564
มีมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท) ซึ่งปริมาณใบ “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) ที่ทำการยึดในครั้งนี้ น้ำหนัก 5600 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 60 ล้านบาท
ใบคัต (Khat) หรือแกต เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นพืชเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในระดับอ่อนถึงปานกลาง การบริโภคใบคัตอาจทำให้เสพติด หรือส่งผลต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน คือ โรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน หรืออาจเสียชีวิตได้
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าว เป็นกรณีความผิดฐานพยายามนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ตามมาตรา 149 (1) (2) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2565 และกรณีเป็นความผิดฐานนำของหัตถกรรมใด ๆ ที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 5 ประกอบ มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พุทธศักราช 2481 ทั้งนี้ เป็นความผิดฐานนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้าม
อันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 202 และมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และยึดของกลางเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) ตั้งแต่ 2556 – 2565 จำนวน 115 คดี จำนวน 6744 กิโลกรัม มูลค่า 69459230 บาท และการจับกุมยาเสพติดทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2566 กรมศุลกากร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 41 ราย มูลค่า
127484050 บาท