คปภ. ลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถกระบะชนรถเก๋ง” เสียชีวิต 6 ราย ที่อุบลราชธานี แล้ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี บริเวณสะพานห้วยตำแย ถนนเดชอุดม-แยกท่าโพธิ์ศรี บ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 26 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 26 ธันวาคม 2566
โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200000-500000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ รถยนต์กระบะคันดังกล่าว ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 24 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 24 ธันวาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500000 ต่อคน 10000000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 5000000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 360000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 300000 บาท ผู้โดยสาร 300000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 300000 บาทต่อคน
ด้านรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยภาคสมัครใจ
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3ฒต 6437 กรุงเทพมหานคร (เป็นฝ่ายผิด) ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะที่เสียชีวิตจะได้รับ
ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 335000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 35000 บาท และค่าสินไหมทดแทนจากความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จำนวน 300000 บาท ซึ่งในวันนี้ (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) บริษัท ธนชาตประกันภัยฯ ได้จ่ายส่วนของความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ให้แก่ทายาท จำนวน 300000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชี เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กน 8528 อุบลราชธานี (ถ้าเป็นฝ่ายถูก) ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์เก๋ง ทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1000000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. รายละ 500000 บาท และจากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 รายละ 500000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป โดยสำนักงาน คปภ. จะช่วยประสานงานและเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการ
การทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ. พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย