เมื่อ : 05 มี.ค. 2566

 

 

วันที่ 5 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

 โดย ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นำโดย ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ และสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัย “การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพดอกเบญจมาศบ้านตาติดด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีโดยมี ดร.กนกอร  อัมพรายน์ แห่ง วว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ณ บ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามผลสำเร็จของโครงการวิจัยในการขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยในการผลิตต้นพันธุ์เบญจมาศ โดยใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน

 

โดยมีนายถิรพุทธิ์  คานทอง เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี  ผู้บริหาร วว. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด และเกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ

 

ศ.ดร.พีระศักดิ์  ศรีนิเวศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนการวิจัยแก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการผลิตเบญจมาศบ้านตาติดด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรคและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง 

 

คณะนักวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาต้นเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ เพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์สู่ระบบการผลิตดอกเบญจมาศ โดยใช้องค์ความรู้จากการวิจัย ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมจากสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นต้นแม่พันธุ์ เพื่อการพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์ และสร้างสายพันธุ์ใหม่

 

 

 

ดร. กนกอร  อัมพรายน์ หัวหน้าโครงการวิจัย แห่ง วว. กล่าวว่า ได้ใช้พื้นที่บ้านตาติด ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ดำเนินการวิจัย เนื่องจากมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด” จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 เพื่อการต่อรองราคาในการขายผลผลิตและการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระดาษห่อดอก เป็นต้น มีสมาชิก 40 ราย และในปี 2560 กลุ่มฯ ได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่เพราะมีศักยภาพในการดำเนินงาน จัดเตรียมและจัดตั้งกลุ่ม “แปลงใหญ่ไม้ดอกบ้านตาติด” สำเร็จในปี 2561 สมาชิก 41 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการเมื่อแรกเริ่ม 104.75 ไร่ จนปัจจุบันสมาชิกขยายพื้นที่การผลิตเบญจมาศเป็นประมาณ 300 ไร่

 

 

 

นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีการขยายองค์ความรู้ในการผลิตต้นพันธุ์ไว้ปลูกเองและจำหน่ายบางส่วน ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิก และทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ค้าและผู้ซื้อทั่วประเทศ พร้อมกับเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายดอกเบญจมาศในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างทั้งหมด ที่ผ่านมาการผลิตเบญจมาศ พบปัญหามากมาย ไม่ว่าเรื่องสายพันธุ์ที่ไม่แข็งแรง กระบวนการจัดการแปลงผลิตเบญจมาศ โรคและแมลงศัตรูพืช 

 

ทีมนักวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา และทีมวิจัยจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญญบุรี มหาวิทยาลัยราชมงคล อิสาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกันแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรจนเป็นผลสำเร็จทำให้เกษตรกรมีพันธุ์เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ และแนวทางป้องกันโรคจากศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี