เมื่อ : 23 มี.ค. 2566

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม ในโครงการการถ่ายทอดนวัตกรรมและส่งเสริมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบผลิตโคเนื้อครบวงจร แบบพึ่งพาตนเองเชิงบูรณาการในจังหวัดมุกดาหาร  

 

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัด เสริมศักยภาพให้กับเกษตรกรแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ การผลิตอาหารหยาบ อาหารข้น อาหารผสมครบส่วนแบบหมัก (FTMR) ต้นทุนต่ำ การใช้ฮอร์โมนในการเหนี่ยวนำ การใช้น้ำเชื้อแบบแยกเพศ วางแผนการผลิต การใช้แอปพลิเคชันโคเนื้อ และที่สำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการตลาด ลดต้นทุนเพิ่มรายได้สร้างกำไร โดยมีการส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในจังหวัด เพื่อการพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการทบทวนทักษะ (Re-skill) ยกระดับทักษะด้วยนวัตกรรม (Up-skill) และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ใหม่ (New skill) สร้างรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภูมิลำเนา หวังสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ สู่เป้าหมายเพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ให้เพิ่มขึ้น

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่จังหวัดมุกดาหาร

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประสบกับปัญหาต้นทุนด้านอาหารสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนในการเลี้ยงโคเนื้อ 

 

ทิศทางการพัฒนาและสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสู่ Smart farmer เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอาชีพเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต และการจัดทำคู่มือเนื้อหาทางการปฏิบัติที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย ตลอดจนการผลิตสื่อเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่าย และเกษตรกรที่สนใจ

 

นายพิชิต รอดชุม อาจารย์สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม  หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า 

 

โครงการนี้ได้มีการพัฒนาบูรณาการร่วมกันระหว่างเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เช่น นักวิชาการ นักวิจัย มหาวิทยาลัยนครพนม ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ประกอบการด้านการค้าในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร สร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเอง มาช่วยพัฒนาการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพภายในฟาร์มของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ และโคขุน ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสัตว์ 

 

โดยมีการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ทำให้เกษตรกรเข้าใจในการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตโคเนื้อให้มีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้
 

 

โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูง สามารถนำผลงานการวิจัยมาปรับใช้เพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการในการหาวัตถุดิบอาหารทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร จากความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแบบบูรณาการจากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ 

 

สามารถแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมที่ใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ 1) การผลิตอาหารหยาบ (หญ้าเนเปียร์/ข้าวโพดคุณภาพดี) ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารโคเนื้อ 2) การถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมการผลิตอาหารโคเนื้อผสมครบส่วนแบบหมัก (FTMR) 3) การใช้ฮอร์โมนในการเหนี่ยวนำการเป็นสัดร่วมกับการใช้น้ำเชื้อแบบแยกเพศวางแผนการผลิต และ 4) การใช้แอปพลิเคชันโคเนื้อ การคัดเลือกสายพันธุ์และตลาดโคเนื้อให้เกิดประสิทธิภาพ
 

 

สำหรับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดมุกดาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ 2) วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคขุนระยะสั้น ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ 3) วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโค ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง 4) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือ ตำบลดงมอน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

อ.พิชิต รอดชุม กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในโครงการฯ จากการสำรวจ พบว่า ค่าเฉลี่ยหนี้สินครัวเรือนของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนเข้าร่วมการอบรม 99504.34 บาท/ราย และหลังเข้าร่วมการอบรม 95194 บาท/ราย และหลังการอบรมสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นอาชีพสามารถลดหนี้สินครัวเรือนได้ถึง 4310.34 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 4.33 ซึ่งจะมีการขยายผลโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมศักยภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้นสามารถนำวัตถุดิบในชุมชนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อ.พิชิต รอดชุม สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม E-mail rodchoom@hotmail.com chitrod2@gmail.com โทรศัพท์ 095-669-2737 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนพัฒน์ สุระนรากุล สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม E-mail Tanapatsuranarakul@gmail.com โทรศัพท์ 087-775-5663