เมื่อ : 22 เม.ย. 2566

 

 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรมการถ่ายทอดงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านการบรรเลงดนตรีสากลเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง” 

 

โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการเปิดงานฯ พร้อมกันนี้  พระครูพิธานนพกิจ ฐานทตฺโต เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหารของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย นางสาวตวงรัตน์  โล่สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง  นายอำเภอเกาะคา นายกเทศมนตรีตำบลลำปาง  ร่วมให้การต้อนรับ 

 

 การแสดงดนตรี “เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง” เป็นการถ่ายทอดความรู้จากการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโครงการเรื่อง “โครงการพื้นที่วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการ เสียงใหม่” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ควบคุมการบรรเลงวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ และสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร อว. คณะผู้บริหารหน่วยงานจังหวัดลำปาง สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ผ่านการบรรเลงดนตรีออเคสตร้า ณ ลานวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

 

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ได้เริ่มศึกษาและดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ซึ่งโครงการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่การแสดงดนตรี ณ ลานวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง 

 

เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนลำปาง เป็นวัดหัวเมืองภาคเหนือ เป็นหัวเมืองด่านหน้าและเป็นหัวเมืองที่ผู้ปกครองทุกยุคสมัยต้องการเมืองลำปางไว้ในครอบครอง วัดพระธาตุลำปางหลวงยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมแต่โบราณไว้ เช่น งานประเพณียี่เป็งไหว้สาพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นประเพณีลอยกระทงแบบท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา นับเป็นการเปิดโลกวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อค้นหาร่องรอยในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่มาแสดงออกในรูปแบบของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า สร้างความสุข ความประทับใจให้แก่ผู้รับฟัง ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ฟัง ได้สัมผัสกับความเบิกบานใจในทุกพื้นที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่สังคมไทยและวงการศึกษาดนตรีของไทย เพราะเพลงคลาสสิกไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพลงของชาวตะวันตกอีกต่อไป 

 

 

 

ซึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นการอนุรักษ์และต่อยอด รวมทั้งพัฒนาด้วยดนตรีพื้นบ้านอันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของคนไทย โดย “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ดำเนินการ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมการค้นหาเพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเล่นผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพื่อรักษาเพลงเก่า นำมาเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นการรังสรรค์ท่วงทำนองคีตศิลป์กระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า นำไปสู่การส่งเสริมการรังสรรค์คีตศิลป์ผ่านบทเพลงอันเป็นเอกลักษณ์เป็นการสร้างผลงานศิลปะทางวัฒนธรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอด 

 

รวมไปถึงการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราที่เป็นวงดนตรีคลาสสิกมีนักดนตรีชาวไทยที่มีฝีมือสูงผ่านการฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญ ออกมาแสดงให้ผู้ชมในท้องถิ่นซึ่งเป็นชาวบ้านได้ชื่นชมบทเพลงของตัวเองที่สำคัญมาก ๆ คือผู้คนในท้องถิ่นได้ให้ความร่วมมือร่วมใจกันช่วยทำให้งานเกิดขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาจารย์สุกรี เจริญสุข และคณะจะเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์ท่วงทำนองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ 

 

ซึ่งการรักษาอดีตเพื่อไปต่อยอดในอนาคต การมองเห็นสมบัติของแผ่นดินเกิดการสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษของเราหลงเหลือไว้ เรามีศิลปะสุนทรียะที่ไม่สามารถลบล้างไปได้ง่ายอันทรงคุณค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ผลักดันการเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติในระดับโลก

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดที่เก่าแก่ของภาคเหนือและเป็นวัดสำคัญของจังหวัดลำปาง เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่กว่า 1300 ปี มีการวางรากฐานของบ้านเมือง คูเมือง กำแพงเมือง มีผู้คนและมีเจ้าเมือง มีวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นศูนย์กลางของเมืองลำปาง เป็นศูนย์บัญชาการการปกครองในอดีต เพราะวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นหัวใจของเมือง และเป็นวัดหลวงของเมืองลำปาง  เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อค้นคว้าเรื่องของเสียงดนตรีที่ยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แล้วนำเสียงมาสร้างจินตนาการใหม่ 

 

การนำเสียงของวัฒนธรรมเมืองเหนือ เสียงซึง เสียงปี่จุม เสียงไม้ไผ่ และเสียงกลอง เป็นเสียงที่มีอยู่แล้วโดยการเลียนแบบจากเสียงธรรมชาติ  (Acoustic) มาใช้เป็นเสียงดนตรี ซึ่งเป็นบริบทที่สำคัญของชุมชน ที่จะมีการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานที่สามารถสื่อสารออกไปสู่สากลได้ นับเป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในงานศาสตร์และศิลป์ ด้วยการทำงานวิจัยที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จึงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการใช้กลไกการแสดงดนตรีและการถ่ายทอดผ่านบทเพลง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ พร้อมกับเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจะเข้ามาร่วมชื่นชมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นSoft power อย่างยั่งยืน
  

  

 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า การแสดงดนตรีเสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ได้รับเกียรติจากอาจารย์เนาวรัตน์  พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมอ่านบทกวี มีบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางขับร้องโดย กมลพร  หุ่นเจริญ พร้อมศิลปินพื้นบ้านลำปาง เป็นจำนวนมาก เลือกพื้นที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นสถานที่จัดงานเพื่อที่จะนำกลิ่น เสียง และวิญญาณของประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในเพลงที่มีการปกของเชียงใหม่กระทั่งถึงสมัยเจ้าทิพย์ช้างสามารถขับไล่พม่าออกจากลำปางได้ และขึ้นครองลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2279 ต่อมา พ.ศ. 2307 เจ้าแก้วฟ้าโอรสของเจ้าทิพย์ช้างได้ครองนครลำปางเป็นต้นตระกูลของคนในปัจจุบัน ตระกูล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน 

 

วิถีชีวิตผู้คนและดนตรีของชาวลำปางดั้งเดิมเหลืออยู่กับชาวบ้าน ชาวดอย และผู้เฒ่า จากการที่ลำปางดั้งเดิมมีเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายจึงทำให้ดนตรีพื้นบ้านน่าสนใจศึกษาโดยวัดพระธาตุลำปางเป็นวัดโบราณที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน และเป็นคลังความรู้เป็นมรดกล้ำค่ามาก “เสียงใหม่โดยวงไทยซิมโฟนีออเครสตร้าเป็นการย้อนร่องรอยในอดีตมาประดับบริบทที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เล่าวิถีชีวิตในอดีตด้วยเสียงดนตรี เพราะลำปางเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่” รศ.ดร.สุกรีฯ กล่าวย้ำ
 

 

 ในโอกาสนี้การแสดงดนตรีเสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) พร้อมด้วยนักดนตรีและนักดนตรีพื้นบ้านกว่า 100 คน ในการนำเสนอเพลงต้นฉบับที่มีมาแล้วแต่ดั้งเดิมของเมืองเหนือผ่านการแสดงบทเพลง ตกเส้งลำปาง แห่ดำหัวหรือแห่นำพล เก๊าห้า มอญลำปาง ลาวลำปาง-สร้อยลำปาง  แล้งในอกหรือลาวคลึง มอญเจี๊ยหอย ลาวจ้อยหรือสร้อยแสงแดง  ลาวเจริญศรี ลาวเสี่ยงเทียน ลาวเดินดง ลาวดวงดอกไม้ ลาวสวยรวย ลาวคำหอม ลาวกระทบไม้ ผีมดผีเม็ง  ฤาษีหลงถ้ำ ล่องน่าน-ล่องแม่ปิง ปราสาทไหว สะล้อล้านนา เป็นต้น 

 

พร้อมด้วยวงปล่อยแก่จังหวัดลำปาง บรรเลงเพลงระบำ ร่ำเปิงลำปาง ล่องแม่ปิง หมู่เฮาจาวเหนือ  และเพลงปล่อยแก่ นับเป็นการแสดงบทเพลงที่เข้าถึงผู้ฟังและสร้างความประทับใจให้กับผู้รับฟัง ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ดนตรีควบคู่กับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เป็นศิลปะในการสื่อสาร ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปสู่ผู้ฟัง ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด ก็สามารถรับรู้ และเข้าใจอรรถรสของดนตรีได้ผ่านด้วยเสียงเพลง
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ